| |
บุคคลที่อยู่อย่างมีความทุกข์ใจ ๖ ประการ   |  

๑. กามะวิตักเกนะ เสติ บุคคลที่เป็นอยู่ด้วยกามวิตก หมายถึง บุคคลที่มักตรึกถึงเรื่องกามและการเสพกามอยู่เสมอ เรียกว่า ผู้หมกมุ่นในกาม บุคคลเหล่านี้ย่อมมีอาการงุ่นง่านใจอยู่ไม่เป็นสุข มักดิ้นรนแสวงหากามอารมณ์มาเสพอยู่เสมอ เมื่อได้เสพตามที่ต้องการย่อมเกิดอาการหลงไหล แต่เมื่อไม่ได้เสพตามที่ต้องการย่อมมีอาการทุรนทุรายด้วยอำนาจโทสะ เรียกว่า คนบ้ากาม

๒. พ๎ยาปาทะวิตักเกนะ เสติ บุคคลที่เป็นอยู่ด้วยพยาปาทวิตก หมายถึง บุคคลที่มักตรึกถึงเรื่องที่ทำให้เกิดความโกรธ อาฆาต พยาบาท จองเวร หรือหาวิธีการประทุษร้ายบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นที่ตนไม่ชอบใจ เมื่อตรึกถึงสิ่งเหล่านั้น ความโกรธอาฆาตพยาบาทย่อมเกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ กลายเป็นความจองเวร และหาวิธีการที่จะประทุษร้ายบุคคลหรือสิ่งที่ตนไม่ชอบให้เสียหายหรือย่อยยับพินาศไป บุคคลนั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ทุรนทุรายดุจอสรพิษที่ถูกตี

๓. วิหิงสาวิตักเกนะ เสติ บุคคลที่เป็นอยู่ด้วยวิหิงสาวิตก หมายถึง บุคคลที่มุ่งทำร้ายเบียดเบียนบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นที่ตนไม่ชอบ ด้วยอำนาจความโกรธความไม่ชอบใจ ย่อมอยู่ไม่เป็นสุขใจ มักแสวงหาเรื่องทะเลาะวิวาทอันเป็นเหตุอ้าง จะได้ทำร้ายบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นที่ตนไม่ชอบใจอยู่เสมอ

๔. กามะสัญายะ เสติ บุคคลที่เป็นอยู่ด้วยกามสัญญา หมายถึง บุคคลที่ตัดความคิดในเรื่องกามไม่ได้ โดยมีความสำคัญในกามว่า สามารถให้ความสุขแก่ตนเองได้อย่างสุดซึ้ง โดยเฉพาะบุคคลที่ปรารถนาจะเสพกามแล้วไม่ได้เสพดังใจปรารถนา หรือปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้ดังปรารถนา ย่อมมีความเก็บกดความรู้สึกทะยานอยากนั้นไว้และสั่งสมพอกพูนให้มากขึ้น และแสดงอาการกระสับกระส่ายเพ้อหากามอารมณ์นั้นอยู่เสมอ จนอยู่ไม่เป็นสุข

๕. พ๎ยาปาทะสัญายะ เสติ บุคคลที่เป็นอยู่ด้วยพยาบาทสัญญา หมายความว่า บุคคลที่ยังตัดความคิดอาฆาตพยาบาทจองเวร หรือยังยินดีพอใจในการรบราฆ่าฟัน ชกต่อยกัน โดยความฮึกเหิมคึกคะนองใจ บุคคลนั้นย่อมหวังที่จะได้พบได้เห็นหรือได้กระทำการประทุษร้ายบุคคลหรือสิ่งที่ตนต้องการจะประทุษร้ายนั้นอยู่เสมอ ย่อมอยู่ไม่เป็นสุข มีความกระสับกระส่ายจิตใจ กิริยาอาการก็หยาบกระด้าง มีอาการหลุกหลิกงุ่นง่านไม่สงบ

๖. วิหิงสาสัญายะ เสติ บุคคลที่เป็นอยู่ด้วยวิหิงสาสัญญา หมายความว่า บุคคลที่ยังตัดความคิดเบียดเบียนไม่ได้ หรือยังยินดีชอบใจในการเบียดเบียน ล้างผลาญกัน พอใจในการล้างแค้นห่ำหั่นกัน ย่อมอยู่ไม่เป็นสุข มักครุ่นคิดถึงความโกรธ ความอาฆาต ความไม่ชอบใจ เพื่อหาเหตุล้างผลาญกันอยู่เสมอ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |