| |
รูปมี ๒ อย่าง   |  

มูลนิธิสถานที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทรุ.๑๑ ได้กล่าวถึงประเภทของรูปไว้ ๒ ประเภท คือ

๑. รูปบัญญัติ ได้แก่ สิ่งที่มองเห็นกัน เรียกกันไปต่าง ๆ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่น คนผู้หญิง คนผู้ชาย ก็มีชื่อต่างกันออกไป สัตว์ต่าง ๆ ตัวผู้ ตัวเมีย ก็มีชื่อเรียกกันไปต่าง ๆ ต้นไม้แต่ละชนิด ทั้งที่ยืนต้นและล้มลุก ก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป รวมถึงพื้นดิน ภูเขา แม่น้ำ ทะเล เป็นต้น เหล่านี้เป็นรูปโดยบัญญัติ

๒. รูปปรมัตถ์ ได้แก่ รูปที่มีจริงโดยสภาวะ โดยธรรมชาติ ผู้ที่ได้ศึกษา ได้เรียนรู้ ได้กระทบสัมผัส และทำการพิจารณาให้รอบคอบด้วยปัญญาแล้ว ย่อมสามารถรู้ได้

เพื่อความเข้าใจง่ายและเห็นได้ชัดเจน ระหว่างรูปปรมัตถ์กับรูปบัญญัติ ขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

ถ้าเอาถ่านไฟในเตาซึ่งติดไฟแล้วมาจี้ที่แขนของคน ๕ คน แต่ละคนจะรู้สึกร้อนเหมือน ๆ กัน ถ้าเป็นคนไทยก็จะพูดว่า ร้อน คนจีน คนพม่า คนอินเดีย คนยุโรป ก็จะเปล่งวาจาออกมาเป็นภาษาของตนที่ไม่เหมือนกัน แต่มีความหมายเหมือนกันว่า ร้อน ทุกคนมีความรู้สึกว่า ร้อน ความร้อนนั่นเอง คือ รูปปรมัตถ์ “เป็นความจริงที่มีอยู่จริง” ส่วนคำอุทานแต่ละภาษาที่เปล่งออกมานั้นไม่เหมือนกัน นั้นคือ “รูปบัญญัติ

ความจริงที่มีอยู่จริงนี่แหละ คือ ปรมัตถธรรม และไฟที่ยกตัวอย่างมานี้ก็เป็นหนึ่งในรูปปรมัตถ์ คือ เตโชธาตุ นั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |