ไปยังหน้า : |
อกุศลกรรมวัตถุ หมายถึง เหตุที่ทำให้เกิดอกุศลกรรมต่าง ๆ หรือการกระทำที่ทำให้เกิดอกุศลจิตขึ้นนั้น เมื่อสรุปแล้ว มี ๒๐ อย่าง แบ่งเป็น ๒ จำพวก คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือทุจริต ๑๐ และอบุญกิริยาวัตถุ ๑๐
อกุศลกรรมบถ ๑๐
อกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทุจริต ๑๐ เป็นเหตุให้เกิดอกุศลกรรมโดยตรง
อกุศลกรรมบถ หมายถึง หนทางที่ทำให้เกิดอกุศล หรือ การกระทำที่ให้เกิดอกุศลต่างๆ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ เป็นเหตุไกลที่ทำให้เกิดอกุศลจิตต่าง ๆ เพราะเป็นแต่เพียงกฎเกณฑ์ข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดอกุศลเท่านั้น ยังมิใช่พฤติกรรมที่แสดงอกุศลกรรมออกมาแต่ประการใด
ทุจริต หมายถึง ความประพฤติชั่ว ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ซึ่งเป็นเหตุใกล้ที่ทำให้เกิดอกุศล เพราะเป็นพฤติกรรมที่แสดงความเป็นอกุศลออกมาแล้ว
อกุศลกรรมบถ หรือ ทุจริต แบ่งเป็น ๓ ทวาร ได้แก่
กายกรรม มี ๓ ประการ คือ
๑. ปาณาติบาต การทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป [รวมทั้งมนุษย์และสัตว์ทั่วไป] ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การเบียดเบียนทำร้ายสัตว์ ให้ได้รับความลำบาก หรือถึงแก่ความตาย
๒. อทินนาทาน การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ได้แก่ การลักขโมย ฉ้อโกง ฉกชิงวิ่งราว ปล้น ทำให้บุคคลอื่นสูญเสียกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นไป
๓. กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ได้แก่ การคบชู้สู่สามีภรรยาของบุคคลอื่น หรือการล่วงละเมิดในบุรุษหรือสตรีอื่น ที่มีเจ้าของหวงแหน ที่นอกจากสามีภรรยาของตนเอง
วจีกรรม มี ๔ ประการ คือ
๔. มุสาวาท การพูดเท็จ ได้แก่ การโกหก หลอกลวง ให้เขาหลงเชื่อในสิ่งที่เป็นเท็จ ไม่เป็นความจริง
๕. ปิสุณวาจา การพูดส่อเสียด ได้แก่ การพูดใส่ร้ายป้ายสีให้เกิดความแตกแยกสามัคคี หรือเกิดความเข้าใจผิด ทำให้บุคคลผู้ถูกใส่ร้าย เกิดความเสียหาย หรือสูญเสียผลประโยชน์ไป
๖. ผรุสวาท การพูดคำหยาบ ได้แก่ การด่าว่าเสียดสี ให้เกิดบันดาลโทสะ การพูดกระแนะกระแหนให้เกิดความโกรธ ความไม่พอใจ หรือให้ได้รับความเสียหายต่าง ๆ
๗. สัมผัปปลาปะ การพูดเพ้อเจ้อ ได้แก่ การพูดในสิ่งที่ไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ต่าง ๆ ในบรรดาเดรัจฉานกถาหรือเดรัจฉานกถาทั้งหมด
มโนกรรม มี ๓ ประการ คือ
๘. อภิชฌา ความอยากได้ ได้แก่ ความละโมบอยากได้ในทรัพย์สินของบุคคลอื่นมาเป็นของตนโดยความไม่ชอบธรรม หรือการยึดถือหวงแหนในทรัพย์สมบัติของตนจนเกินไป จนไม่อยากใช้สอย ทำให้มีชีวิตแบบฝืดเคือง
๙. พยาบาท ความปองร้าย ได้แก่ ความคิดอาฆาต พยาบาท จองเวร หรือ โกรธ ไม่พอใจ เสียใจ ประทุษร้ายใจ
๑๐. มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ได้แก่ ความเห็นที่เป็นไปโดยผิดจากหลักศีลธรรมของศาสนาที่ถูกต้อง ผิดหลักวัฒนธรรมจารีตประเพณีของสังคมที่ดีงาม และผิดจากหลักกฎหมายของบ้านเมืองที่ชอบธรรม เรียกว่า เห็นผิดจากหลักทำนองคลองธรรม