| |
ลักขณาทิจตุกะของอิสสาเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของอิสสาเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่มีเหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. ปะระสัมปัตติอุสสูยะนะลักขะณา มีการริษยาในทรัพย์สมบัติ หรือ คุณความดีของบุคคลอื่น เป็นลักษณะ หมายความว่า อิสสาเจตสิกนั้นย่อมมีลักษณะพิเศษเฉพาะตน ซึ่งแตกต่างจากสภาวธรรมเหล่าอื่น ที่สามารถกำหนดรู้ได้ คือ การได้เห็นบุคคลอื่นได้ดีแล้วทนอยู่ไม่ได้ ย่อมเกิดความอิจฉาริษยา ไม่ยินดีอนุโมทนาในความสุขและความสำเร็จของบุคคลอื่น แต่เมื่อเห็นบุคคลอื่นฉิบหายแล้วย่อมเกิดความพึงพอใจ

๒. ตัตเถวะ อะนะภิระติระสา มีความไม่พอใจในทรัพย์สมบัติและคุณความดีของผู้อื่นนั่นแหละ เป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่ของอิสสาเจตสิกนี้ย่อมแสดงการไม่พอใจในทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของบุคคลอื่น ทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกอื่น ๆ ที่เกิดพร้อมกับตนนั้นแข็งกระด้าง ไม่อนุโมทนายินดีด้วยกับทรัพย์สมบัติและความสุขความสำเร็จของบุคคลอื่น

๓. ตะโตวิมุขีภาวะปัจจุปปัฏฐานา มีการเบือนหน้าหนีจากทรัพย์สมบัติ หรือคุณความดีของบุคคลอื่น เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า อาการที่ปรากฏของอิสสาเจตสิกที่สามารถสังเกตพิจารณารู้ได้นั้น ย่อมยังสัมปยุตตธรรมให้เบือนหน้าหนีจากทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ถูกความอิจฉาริษยาเข้าครอบงำแล้ว เมื่อเห็นบุคคลอื่นได้ดีมีความสุขประสบความสำเร็จแล้วทนดูอยู่ไม่ได้ ย่อมมีความอิจฉาตาร้อน หาทางที่จะตัดความสุขหรือความเจริญของบุคคลอื่น เมื่อไม่สามารถทำอะไรได้ ย่อมเบือนหน้าหนี ไม่สามารถรับรู้และยินดีอนุโมทนากับบุคคลอื่นได้

๔. ปะระสัมปัตติปะทัฏฐานา มีทรัพย์สมบัติ หรือ คุณความดีของบุคคลอื่น เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า เหตุใกล้ที่ทำให้อิสสาเจตสิกเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องมีทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของบุคคลอื่นเป็นสาเหตุ เพราะฉะนั้น อิสสาเจตสิกนี้จึงชื่อว่า มีอารมณ์เป็นพหิทธธรรม คือ มีอารมณ์ภายนอกตนเอง ได้แก่ ทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของบุคคลอื่นนั่นเอง ถ้าบุคคลใดมีความเหนือกว่าบุคคลอื่นด้วยทรัพย์สมบัติและคุณความดี ปมด้อยหรือปมเขื่อง คือ ความอิจฉาริษยา ย่อมไม่ค่อยเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น หรือมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย

ความไม่พอใจในทรัพย์สมบัติ หรือ คุณความดีของบุคคลอื่น ถ้าเป็นเพียงความไม่พอใจ ด้วยเห็นว่า ไม่ใช่สมบัติของตน เท่านี้ย่อมไม่มีโทษ แต่ถ้าไม่พอใจ ด้วยเห็นว่า ผู้อื่นไม่สมควรมี ไม่สมควรได้ หรือไม่สมควรเป็น ดังนี้เป็นต้นย่อมชื่อว่า ริษยา ซึ่งมีโทษ และเป็นสภาพของอิสสาเจตสิก พึงเห็นว่า สภาพของอิสสานี้ เป็นสภาวะที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย จึงผูกพันสัตว์ทั้งหลายไว้ในภพน้อยภพใหญ่ ซึ่งเรียกว่า สังโยชน์ อันได้แก่ อิสสาสังโยชน์ นั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |