| |
ลักขณาทิจตุกะของหิริเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาพของหิริเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. ปาปะชิคุจฉะนะลักขะณา มีการรังเกียจต่อบาป เป็นลักษณะ หมายความว่า เมื่อหิริเกิดขึ้นในจิตของบุคคลใดแล้ว บุคคลนั้นย่อมเกิดความรังเกียจทุจริตทุราชีพอันเป็นบาปธรรมทั้งหลาย ไม่อยากเข้าใกล้ หรือ ไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุจริตทุราชีพนั้น ๆ ย่อมหลีกเลี่ยงการกระทำ การพูด และการคิด อันเป็นบาปเป็นอกุศลทั้งปวง ตามกำลังของหิริที่เกิดกับบุคคลนั้น คือ ถ้าบุคคลนั้นมีความละอายซึ่งได้สั่งสมเพิ่มพูนมามาก ย่อมรังเกียจและหลีกลี่ยงบาปอกุศลกรรมทั้งหลายได้มากและเป็นเวลายาวนาน แต่ถ้าบุคคลใดมีกำลังแห่งหิริน้อย เนื่องจากไม่ค่อยได้สั่งสมเพิ่มพูน ย่อมเกิดการรังเกียจบาปอกุศลเป็นบางอย่าง และเป็นอยู่ไม่ได้นาน อาการรังเกียจต่อบาปอกุศลกรรมของบุคคลผู้มีหิรินี้ ท่านอุปมาเหมือนบุคคลผู้ฉลาด ย่อมไม่หยิบจับเอาก้อนเหล็กที่เปื้อนคูถ เพราะความรังเกียจต่อคูถและกลิ่นคูถ หรือย่อมไม่หยิบจับเอาวัตถุสิ่งของที่แปดเปื้อนสิ่งสกปรกด้วยมือเปล่า ฉันนั้น

๒. ปาปานัง อะกะระณะระสา มีการไม่กระทำบาป เป็นกิจ หมายความว่า เมื่อหิริเกิดขึ้นในจิตแล้ว ความคิดที่จะกระทำทุจริตต่าง ๆ ย่อมหายไปจากจิตใจ คือ สามารถเปลี่ยนความคิดในอันที่จะกระทำทุจริตต่าง ๆ ได้ หรือสามารถหยุดการกระทำทุจริตกรรมต่าง ๆ ที่กำลังทำอยู่ได้ ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกว่า หิรินิเสโธ แปลว่า เครื่องห้าม หรือ เครื่องป้องกันบาปอกุศล คือ หิริ หรือเรียกว่า “หิรินิเสธมงคล” เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลใดมีหิริ คือ ความละอายต่อบาปแล้ว บุคคลนั้นย่อมมีเครื่องป้องกันความชั่วร้ายและป้องกันความทุกข์ อันจะพึงบังเกิดขึ้นจากการกระทำอันชั่วร้ายนั้นเป็นอย่างดี ยิ่งกว่ามีพระสมเด็จหรือสิ่งของที่สมมติกันว่า “วัตถุมงคล” ใด ๆ เสียอีก เพราะวัตถุมงคลทั้งหลายนั้น เป็นเครื่องป้องกันได้เพียงภัยจากภายนอกและป้องกันได้เฉพาะบางครั้งบางคราวหรือบางคนเท่านั้น ส่วนหิรินิเสธมงคล คือ เครื่องป้องกันคือหิรินี้ ย่อมสามารถป้องกันภัยอันเกิดจากภายในคือกิเลสและป้องกันความทุกข์ความเดือดร้อนต่าง ๆ มีความทุกข์เพราะการต้องเกิดในอบาย เป็นต้นได้อย่างดีเยี่ยม

๓. ปาปะโต สังโกจะนะปัจจุปปัฏฐานา มีความย่อท้อต่อบาป เป็นอาการปรากฏ [มีความละอายต่อบาป] หมายความว่า บุคคลผู้มีหิริ ย่อมมีความละอายแก่ใจตัวเอง ในอันที่จะทำทุจริตต่าง ๆ แม้การกระทำทุจริตนั้น จะไม่มีใครรู้เห็นก็ตาม หรือมีโอกาสที่จะกระทำทุจริตมากเพียงใดก็ตาม ย่อมไม่อาจกระทำทุจริตนั้น ๆ ลงไปได้ เพราะความละอายแก่ใจของตนนั่นเอง เพราะฉะนั้น บุคคลที่ไม่กล้ากระทำความผิด ความชั่วร้ายต่าง ๆ เพราะกลัวว่าบุคคลอื่นจะรู้เห็นแล้วตำหนิติเตียนเอาก็ดี หรือกลัวถูกลงโทษโดยประการต่าง ๆ ก็ดี ยังไม่ชื่อว่า เป็นผู้มีหิริโดยแท้จริง ต่อเมื่อบุคคลนั้น มีความละอายต่อบาปโดยการรู้สึกรังเกียจต่อบาปว่า บาปนี้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เหมือนสิ่งสกปรกหรืออสรพิษร้าย ดังนี้เป็นต้น จึงชื่อว่า มีหิริโดยแท้

๔. อัตตะคาระวะปะทัฏฐานา มีความเคารพตนเอง เป็นเหตุใกล้ให้เกิด เหมือนดังกุลสตรีที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างดี มีความรักนวลสงวนตัว ฉันนั้น หมายความว่า เมื่อบุคคลพิจารณาถึงคุณสมบัติของตน คือ ชาติ วัย ความเป็นผู้แกล้วกล้า และความเป็นพหูสูต อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยโยนิโสมนสิการ คือ อุบายเครื่องพิจารณาด้วยปัญญาอันแยบคายแล้ว หิริ คือ ความละอายต่อบาปย่อมบังเกิดขึ้น เช่น บางคนได้ยินได้ฟังสิ่งที่ดีงามอันก่อให้เกิดความละอายแล้วไม่กระทำบาปด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ พิจารณาถึงชาติกำเนิดหรือตระกูลอันมีเกียรติของตน ๑ พิจารณาถึงพระบรมศาสดาผู้ทรงเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่และประเสริฐสุด ๑ พิจารณาถึงความเป็นทายาทผู้ยิ่งใหญ่ ๑ พิจารณาถึงเพื่อนพรหมจารีผู้เป็นใหญ่ ๑

หิริเจตสิก มีอุปมาเหมือน กุลบุตรบางคนในโลกนี้ กระทำตนให้เป็นใหญ่เป็นประธาน ออกบวชในพระศาสนา แล้วคิดว่า “การกระทำความชั่วนั้น ไม่สมควรแก่กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา ผู้มีวัตรปฏิบัติมีธุดงควัตรเป็นต้นเช่นเราเลย” แล้วไม่กระทำบาปกรรมใด ๆ เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า กุลบุตรนั้น ย่อมกระทำตนให้เป็นใหญ่ให้เป็นประธานเท่านั้น แล้วย่อมละอกุศล เจริญกุศล ย่อมละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ ย่อมบริหารตนให้หมดจดได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |