| |
มหากิริยาจิต   |  

มหากิริยาจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ที่เกิดขึ้นกระทำกิจการงานอันเป็นกุศลนั่นเอง แต่ว่า การงานอันเป็นกุศลนั้นย่อมให้ผลเป็นความสุขต่อไปในภพหน้าอีก ส่วนพระอรหันต์นั้นท่านไม่มีการเกิดในภพหน้าอีกต่อไปแล้วและการทำกิจทุกอย่างของท่านย่อมไม่ต้องการผลใด ๆ แม้จะเป็นความสุขต่อไปอีกก็ตาม จึงเรียกกิริยานั้นว่า สักแต่ว่าทำ พูด คิด ด้วยมหากิริยาจิตเท่านั้นเอง

ที่กล่าวว่า เป็นการงานอันเป็นกุศลนั้น หมายความว่า การงานที่พระอรหันต์ทำนั้น ถ้าเป็นปุถุชนหรือพระเสกขบุคคลทำแล้ว ล้วนแต่เป็นกุศลคือความดีงามและจะส่งผลเป็นความสุขให้ทั้งสิ้น แต่กุศลจิตของพระอรหันต์นั้นเป็นกิริยาจิต เพราะไม่มีการส่งผลให้อีกต่อไป ส่วนในการงานที่เป็นอกุศลนั้น แม้เพียงแต่คิดด้วยจิตอันเป็นอกุศล ก็ไม่มีแล้วในจิตใจพระอรหันต์ทั้งหลาย ฉะนั้น พระอรหันต์ทั้งหลาย จึงชื่อว่า เป็นผู้ละบุญและบาปได้แล้ว จึงไม่ต้องเกิดมาเพื่อรับผลของบุญและบาปอีกต่อไปแล้ว

อนึ่ง เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดมหากิริยาจิตนั้น คล้ายกับเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดมหากุศลจิตนั่นเอง เพราะเมื่อว่า โดยเวทนาก็ดี โดยสัมปโยคะก็ดี หรือโดยสังขารก็ดี ย่อมเหมือนกันกับมหากุศลจิตทุกประการ ต่างกันแต่ว่า พระอรหันต์นั้นท่านมีสันดานอันบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวงแล้ว ไม่มีกิเลสเข้ามาบงการหรือปิดกั้นความรู้สึกที่ดีงามได้ ฉะนั้น จิตใจของท่านนั้น จึงมีความสะอาดบริสุทธิ์และซื่อตรงต่อสภาพธรรมนั้น ๆ เสมอ ซึ่งต่างจากปุถุชนและพระเสกขบุคคลที่ยังมีกิเลสเข้ามาบงการหรือปิดกั้นความรู้สึกที่ดีงามมากบ้างน้อยบ้าง ตามสมควรแก่บุคคล จึงทำให้ยังมีวิปลาสต่ออารมณ์ต่าง ๆ อยู่ ยังไม่ซื่อตรงต่อสภาพของอารมณ์ต่าง ๆ อย่างสิ้นเชิงเหมือนกับพระอรหันต์ ด้วยเหตุนี้ การตอบสนองต่ออารมณ์ของปุถุชนและพระเสกขบุคคลนั้น จึงยังไม่ตรงกับสภาพของอารมณ์นั้น ๆ โดยสิ้นเชิง คือ ยังมีผิดเพี้ยนหรือวิปลาสคลาดเคลื่อนไปบ้าง ตามสมควรแก่กิเลสของบุคคลนั้นๆ ว่าจะมีหนาแน่นหรือเบาบางเท่านั้นเอง ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น ท่านย่อมมีความซื่อตรงต่อสภาพของอารมณ์ทั้งหลาย โดยไม่มีความวิปลาสคลาดเคลื่อนแต่อย่างใด ฉะนั้น ท่านจึงตอบสนองต่ออารมณ์ตามสมควรแก่สภาพของอารมณ์อย่างแท้จริง จึงสรุปได้ว่า มหากิริยาจิตนั้น เมื่อว่าโดยเวทนา สัมปโยคะและสังขารแล้ว เหมือนกันกับมหากุศลจิตทุกประการ

ด้วยเหตุนี้ มหากิริยาจิต จึงมี ๘ ดวง เหมือนมหากุศลจิต คือ





เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |