| |
อุทธัจจเจตสิก   |  

อุทธัจจเจตสิก เป็นธรรมชาติที่มีความฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ หมายความว่า อุทธัจจเจตสิกนี้เป็นสภาวธรรมที่ทำให้สภาพจิตรับอารมณ์ได้ไม่มั่นคง ทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่อุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมด้วยอ่อนกำลังในการรับอารมณ์ คือ ไม่สงบตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ เพราะเหตุนั้น จึงทำให้สัมปยุตตธรรมที่เป็นอกุศลนั้นซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา และเมื่อเวลาส่งผล ย่อมส่งผลเป็น อเหตุกธรรม คือ สภาวธรรมที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ หรือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ

สภาวธรรมที่เกิดพร้อมกับเหตุ เรียกว่า สเหตุกธรรม ย่อมเป็นสภาวธรรมที่มีกำลังมากและตั้งมั่นในอารมณ์ได้อย่างหนักแน่น แต่อเหตุกธรรมนั้นมีสภาพตรงกันข้ามกับสเหตุกธรรมนั้น เพราะอเหตุกธรรมนั้นมีกำลังน้อยและไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์

อุทธัจจเจตสิก เป็นสภาวธรรมที่ทำลายความมั่นคงของสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตน ด้วยเหตุนี้อกุศลกรรมต่าง ๆ ที่บุคคลกระทำด้วยอำนาจอกุศลจิตต่าง ๆ แม้จะมีความรุนแรงเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อส่งผลเป็นวิบากแล้ว ย่อมส่งผลเป็นอเหตุกวิบากจิตอย่างเดียว และนำบุคคลให้เกิดในอบายภูมิ เป็นอเหตุกสัตว์ ซึ่งเป็นผู้มีประสิทธิภาพในการรับรู้หรือรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้น้อย และเป็นสัตว์ที่พัฒนาให้เป็นผู้ประเสริฐได้ยาก อนึ่ง วิบากที่เกิดจากอกุศลกรรมทั้งหลาย ย่อมมีกำลังอ่อนกว่าสภาพวิบากที่เป็นผลของกุศลกรรม


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |