ไปยังหน้า : |
มหัคคตจิต หมายถึง จิตที่เข้าถึงความเป็นใหญ่และประเสริฐ ดังในอัฏฐสาลินีอรรถกถาแสดงวจนัตถะไว้ว่า “มะหันตะภาวัง คะตาติ = มะหัคคะตัง” [วา] “มะหันตัง คะโตติ = มะหัคคะโต” แปลความว่า ธรรมชาติที่เข้าถึงความเป็นใหญ่ ชื่อว่า มหัคคตะ หรือ จิตที่เข้าถึงความเป็นใหญ่ ชื่อว่า มหัคคตจิต มี ๒๗ คือ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒
ความหมายของมหัคคตจิต
มหัคคตจิต แปลว่า จิตที่เข้าถึงความเป็นใหญ่และประเสริฐ หมายถึง จิตที่มีกำลังแก่กล้าสามารถกระทำให้สำเร็จกิจต่าง ๆ ได้ ดังต่อไปนี้
๑. จิตที่เข้าถึงความเป็นใหญ่ นั้นมีความหมาย ๓ ประการ คือ
๑) ข่มกิเลสนิวรณ์โดยวิกขัมภนปหาน หมายความว่า มหัคคตกุศลจิตนั้น สามารถข่มกิเลสนิวรณ์ไว้ได้นานตราบเท่าที่กำลังฌานนั้นยังมีอยู่ ที่เรียกว่า วิกขัมภนปหาน หรือมหัคคตวิปากจิตนั้นสามารถทำให้เป็นผู้ปราศจากกิเลสนิวรณ์ กล่าวคือ ผู้ที่เกิดเป็นพรหมทั้งหลาย ย่อมไม่มีกิเลสนิวรณ์รบกวนจิตใจให้เกิดความเดือดร้อนใด ๆ เลย ย่อมเป็นผู้สงบเย็นใจ มีความสุขอยู่ด้วยพรหมวิหารธรรมตลอดอายุขัยที่เกิดเป็นพรหมนั้น
๒) ย่อมให้ผลอันไพบูลย์ หมายความว่า มหัคคตกุศลจิตและมหัคคตกิริยาจิตนั้น ย่อมให้ผลอันไพบูลย์ กล่าวคือ ให้ได้เสวยความสุขในปัจจุบันภพอยู่ด้วยพรหมวิหารธรรมและกำลังฌานสมาบัติ ย่อมไม่มีความเดือดร้อนกายใจ และมหัคคตกุศลจิตนั้นย่อมส่งผลเป็นมหัคคตวิปากจิตนำให้เกิดในพรหมโลก ให้ได้เสวยทิพยสมบัติในพรหมโลก อนึ่ง สมบัติในพรหมโลกนั้น ย่อมมีความประณีตและยิ่งใหญ่กว่าสมบัติในมนุษย์โลก และเทวโลกหลายเท่านัก ยิ่งใหญ่กว่าสมบัติแห่งพระราชามหาจักรพรรดิหลายเท่า ทั้งอายุขัยของพรหมทั้งหลาย ก็ยืนยาวนานกว่าในมนุษยโลกและเทวโลกอีกหลายเท่า ตามลำดับชั้นที่สูงขึ้นไป โดยเฉพาะชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่สูงที่สุดในสังสารวัฏฏ์นั้น มีอายุขัยถึง ๘๔,๐๐๐ มหากัปป์ ถ้านับเวลาเป็นปีในมนุษย์โลกนั้น ก็ยากที่จะนับให้ถ้วนได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่อาศัยมหัคคตปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นทั้งสิ้น
๓) เป็นเหตุให้ชวนจิตแล่นไปได้ไม่มีกำหนด หมายความว่า มหัคคตชวนจิตนั้น มีการเกิดขึ้นสืบเนื่องกันไปได้เป็นเวลานานเป็นพิเศษ ซึ่งได้แก่ ชวนจิตในฌานสมาบัติ ในขณะที่ฌานลาภีบุคคลเข้าฌานสมาบัตินั้น มหัคคตชวนจิตย่อมเกิดขึ้นติดต่อกันไปไม่ขาดสาย ตราบเท่าที่ยังอยู่ในฌานสมาบัตินั้น อาจใช้เวลาเป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือหลายวันก็ได้
๒. จิตที่เข้าถึงความประเสริฐ นั้น หมายความว่า จิตที่ใช้เป็นบาทฐานให้เกิดคุณวิเศษต่าง ๆ มีอภิญญา สมาบัติ วิชชา ญาณ เป็นต้น หมายความว่า มหัคคตกุศลจิตและมหัคคตกิริยาจิตนั้น เมื่อฌานลาภีบุคคลฝึกฝนให้ชำนาญดีแล้ว ย่อมเป็นบาทให้เกิดอภิญญา สมาบัติ วิชชา ญาณต่าง ๆ กล่าวคือ
๑. อภิญญา หมายถึง ความรู้พิเศษต่าง ๆ ได้แก่ ระลึกชาติปางก่อนได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ แสดงฤทธิ์เดชต่าง ๆ ได้ รู้วาระจิตของบุคคลอื่นได้ รู้การตายการเกิดของสัตว์ทั้งหลายได้ เป็นต้น ตามสมควรแก่กำลังแห่งอภิญญาของแต่ละบุคคล
๒. วิชชา หมายถึง ความรู้แจ้งชัดในสิ่งทั้งปวง เช่น รู้ความเป็นไปในอดีตชาติของตนและของบุคคลอื่น รู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ด้วยตาทิพย์ หูทิพย์ เป็นต้น ตามสมควรแก่กำลังแห่งวิชชาของแต่ละบุคคล
๓. สมาบัติ หมายถึง การเข้าอยู่ ได้แก่ การเข้าอยู่ในฌาน เรียกว่า ฌานสมาบัติ การเข้าอยู่ในผล เรียกว่า ผลสมาบัติ การเข้าไปดับจิตเจตสิก เรียกว่า นิโรธสมาบัติ ตามสมควรแก่คุณวิเศษที่ตนได้ ซึ่งล้วนแต่มีมหัคคตจิตเป็นบาทฐานทั้งสิ้น
๔. วิปัสสนาญาณ หมายถึง ความรู้แจ้งรูปนามตามความเป็นจริงโดยความเป็นไตรลักษณ์ สามารถใช้ฌานกุศลเป็นบาทเจริญวิปัสสนาให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นได้ตามลำดับ ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณจนถึงมรรคญาณผลญาณเกิดขึ้น
จบมหัคคตจิต