| |
ความหมายของฆานปสาทรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๑๕๙ ได้แสดงความหมายของฆานปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

ฆานะ คือ รูปที่รับกลิ่น

อีกนัยหนึ่ง ฆานะ คือ รูปที่ทำให้ผู้สูดดมได้รับกลิ่น

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว ฆานปสาทรูปจึงมีความหมาย ๒ ประการ คือ

๑. รูปที่รับกลิ่น ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ฆายตีติ ฆานํ” แปลความว่า รูปใดย่อมรับกลิ่น เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า ฆานะ

๒. รูปที่ทำให้ผู้สูดดมได้รับกลิ่น ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ฆายนฺติ เอเตนาติ ฆานํ” หรือ “ฆายียนฺติ เอเตนาติ ฆานํ” แปลความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมสูดดมกลิ่นได้โดยอาศัยรูปนั้น เพราะเหตุนั้น รูปอันเป็นเหตุแห่งการได้รับกลิ่นของสัตว์ทั้งหลายนั้น จึงชื่อว่า ฆานะ หรือ รูปอันสัตว์ทั้งหลายย่อมอาศัยสูดดมกลิ่น เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า ฆานะ

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๑๖๐ ท่านได้แสดงความหมายของฆานปสาทรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

ฆานประสาท ซึมซาบตลอดประเทศมีสัณฐานดังกีบแพะ ภายในช่องนาสิก [จมูก]

คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ เป็นต้นรุ.๑๖๑ ได้แสดงความหมายของฆานปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

ฆานปสาทเป็นธรรมชาติรูปชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรม มีความใสบริสุทธิ์เป็นเครื่องรับกลิ่นต่าง ๆ ตั้งอยู่ภายในช่องจมูกที่มีสัณฐานดังกีบเท้าแพะ มีหน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ ประการ คือ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งอาศัยแห่งฆานวิญญาณจิตอย่างหนึ่ง เป็นทวารอันเป็นที่เกิดแห่งฆานทวารวิถีจิตหรือฆานทวาริกจิต อย่างหนึ่ง

บทสรุปของผู้เขียน :

ฆานปสาทรูป หมายถึง รูปธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรม มีความใสสามารถรับกระทบกับคันธารมณ์ คือ กลิ่นต่าง ๆ ได้ เป็นรูปธรรมที่ซึมซาบอยู่กับก้อนเนื้อที่มีสัณฐานคล้ายกีบเท้าแพะ ตั้งอยู่ภายในช่องจมูกส่วนลึก ซึ่งสามารถให้สำเร็จกิจ ๒ ประการ คือ

๑. เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งหรือเป็นที่อาศัยเกิดแห่งฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง

๒. เป็นทวารคือเป็นประตูหรือช่องทางให้ฆานทวารวิถีจิตหรือฆานทวาริกจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ กามาวจรจิต ๔๖ ดวง [เว้นจักขุวิญญาณจิต ๒ โสตวิญญาณจิต ๒ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ กายวิญญาณจิต ๒] เกิดขึ้นรับคันธารมณ์ คือ กลิ่นต่าง ๆ ที่ปรากฏทางจมูก


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |