| |
ประเภทแห่งจักขุ   |  

จักขุ ๒ ประเภท

ในอัฏฐสาลินีอรรถกถา พระอรรถกถาจารย์ได้แสดงความหมายของจักขุไว้ ๒ ประการรุ.๑๔๑ คือ

๑. มังสจักขุ หมายถึง นัยน์ตาเนื้อที่ใช้มองดูสิ่งต่าง ๆ ได้แก่ นัยน์ตาของสัตว์ทั้งหลาย เมื่อว่าโดยสภาวธรรมแล้ว ก็ได้แก่ จักขุปสาทรูป นั่นเอง

๒. ปัญญาจักขุ หมายถึง ปัญญาที่สามารถรู้เรื่องต่าง ๆ ซึ่งเป็นการรู้ทางใจ ไม่ใช่รู้ได้ด้วยนัยน์ตา เมื่อว่าโดยสภาวธรรมแล้ว ก็ได้แก่ ปัญญาเจตสิก นั่นเองรุ.๑๔๒

จักขุ ๓ ประเภท

ในจักขุสูตร ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้รุ.๑๔๓ ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุ ๓ ประเภทเหล่านี้ จักษุ ๓ ประเภทคืออะไรบ้าง?คือ

๑. มังสจักขุ หมายถึง ตาเนื้อ

๒. ทิพพจักขุ หมายถึง ตาทิพย์รุ.๑๔๔

๓. ปัญญาจักขุ หมายถึง ตาคือปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย จักษุมี ๓ ประเภทเหล่านี้แล”

แล้วทรงตรัสประพันธคาถาว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นอุดมบุรุษ ได้ตรัสจักษุไว้ ๓ ประเภทเหล่านี้ คือ มังสจักษุ ๑ ทิพพจักษุ ๑ และปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยม ๑ ความเกิดขึ้นแห่งมังสจักษุนั้น ย่อมเป็นทางแห่งทิพพจักษุ เมื่อใด ญาณคือปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยมเกิดขึ้น เมื่อนั้น บุคคลย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เพราะได้ปัญญาจักษุรุ.๑๔๕

จักขุ ๖ ประเภท

ในอัฏฐสาลินีอรรถกถา พระอรรถกถาจารย์ได้แสดงปัญญาจักขุว่า มี ๕ ประเภทรุ.๑๔๖ คือ ปัญญาจักษุ ได้แก่ ความสามารถในการรู้เรื่องต่าง ๆ ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นการรู้ด้วยใจ ไม่ใช่รู้ด้วยนัยน์ตา ปัญญาจักษุนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ๕ ประเภท ได้แก่

๑. พุทธจักขุ ตาพระพุทธเจ้า หมายถึง พระญาณปัญญาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สามารถหยั่งรู้ในอัธยาศัยของสัตว์โลกทั้งปวงได้ เรียกว่า อาสยานุสยญาณ และพระญาณปัญญาที่สามารถรู้นามอินทรีย์ ๕ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายว่า ยิ่งหรือหย่อนเพียงใด ที่เรียกว่า อินทริยปโรปริยัตติญาณ ซึ่งพระญาณปัญญาทั้ง ๒ นี้มีได้เฉพาะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เป็นเหตุให้พระองค์ทรงทราบอัธยาศัยและอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์ทั้งหลายโดยละเอียดรอบคอบ แล้วทรงแนะนำสั่งสอนให้บรรลุคุณวิเศษต่าง ๆ ยังพุทธกิจให้บริบูรณ์ได้ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ ดวง

๒. สมันตจักขุ ตาเห็นรอบ หมายถึง พระญาณปัญญาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงสามารถหยั่งรู้สรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งบัญญัติและปรมัตถ์ ที่เรียกว่า พระสัพพัญญุตญาณ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ ดวง

๓. ญาณจักขุ ตาปัญญา หมายถึง ญาณปัญญาที่ทำให้สิ้นอาสวะกิเลส ที่เรียกว่า อรหัตตมัคคญาณ หรือ อาสวักขยญาณ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในอรหัตตมัคคจิต

๔. ธรรมจักขุ ตาธรรม หมายถึง ญาณปัญญาของพระอริยบุคคลเบื้องต่ำ ๓ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี และพระอนาคามี องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมัคคจิตเบื้องต่ำ ๓

๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์ หมายถึง ญาณปัญญาที่สามารถรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ไกลแสนไกล หรือสิ่งที่เล็กละเอียดได้อย่างลึกซึ้ง ด้วยอำนาจแห่งสมาธิ ที่เรียกว่า อภิญญา องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในอภิญญาจิต ๒ ดวงรุ.๑๔๗

ปัญญาจักษุทั้ง ๕ ประการนี้ พุทธจักขุและสมันตจักขุ มีได้เฉพาะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ปัญญาจักขุ ๒ คือ ญาณจักขุและธรรมจักขุ ย่อมมีได้แก่ พระอริยบุคคลอื่น ๆ ส่วนทิพพจักขุย่อมมีได้แก่พระอริยบุคคลและฌานลาภีบุคคล ผู้ได้ทิพพจักขุญาณ ตามสมควรแก่กำลังญาณและบุคคลเท่านั้นรุ.๑๔๘

ส่วน [ประเภทที่ ๖] มังสจักขุ นั้นก็คือ การเห็นด้วยนัยน์ตาเนื้อ ไม่ใช่รู้ด้วยปัญญา ได้แก่ จักษุของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่ จักขุปสาทรูป

ปัญญาจักขุ ๕ และมังสจักขุ ๑ รวมเป็น ๖ อย่างนี้ รวมเรียกสั้น ๆ ว่า จักษุ ๖ เมื่อพูดถึงจักขุ ๖ ก็หมายถึง ปัญญาจักขุ ๕ และมังสจักขุ ๑ นี่แหละ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |