| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับเรื่องปัญญา   |  

ปัญญาสูตร [๑]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความยำเกรง ความรักและความเคารพไว้อย่างแรงกล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว เธออาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความยำเกรง ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้านั้นแล้ว เธอเข้าไปหาแล้วไต่ถาม สอบถามเป็นครั้งคราวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง และบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายประการแก่เธอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

เธอฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกายและความสงบจิตให้ถึงพร้อม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

เธอเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรมีปรกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

เธอเป็นพหูสูต ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก ทรงจำไว้คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

เธอย่อมปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความพร้อมมูลแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๖ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

อนึ่ง เธอเข้าประชุมสงฆ์แล้ว ไม่พูดเรื่องต่าง ๆ ไม่พูดเรื่องไม่เป็นประโยชน์ ย่อมแสดงธรรมเองบ้าง ย่อมเชื้อเชิญผู้อื่นให้แสดงบ้าง ย่อมไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างพระอริยเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

อนึ่ง เธอพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ สัญญาเป็นดังนี้ สังขารทั้งหลายเป็นดังนี้ วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๘ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงาม ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้ อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความยำเกรง ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้ อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความยำเกรง ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้า ท่านได้เข้าไปหาแล้ว ไต่ถาม สอบถามเป็นครั้งคราวว่า ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ทำให้แจ้ง และย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายประการ แก่ภิกษุนั้น ท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ฯลฯ เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ได้ฟังธรรมแล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกายและความสงบจิตให้ถึงพร้อม ท่านผู้มีอายุนี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ ก็เป็นไปเพื่อความรัก ฯลฯ เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ฯลฯ เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ท่านผู้มีอายุนี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ฯลฯ เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ปรารภความเพียร ฯลฯ ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ฯลฯ เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้เข้าประชุมสงฆ์ ฯลฯ ไม่ดูหมิ่นความนิ่งอย่างพระอริยเจ้า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ฯลฯ เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ ฯลฯ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็น แน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

ปัญญาสูตร [๒]

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้เสื่อมจากอริยปัญญา ชื่อว่า เสื่อมสุด สัตว์เหล่านั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ มีความเดือดร้อน มีความคับแค้น มีความเร่าร้อนในปัจจุบันทีเดียว เมื่อตายไปแล้ว พึงหวังได้ซึ่งทุคติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่เสื่อมจากอริยปัญญา ชื่อว่า ไม่เสื่อม สัตว์เหล่านั้นย่อมอยู่เป็นสุข ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเร่าร้อนในปัจจุบัน เมื่อตายไปพึงหวังได้ซึ่งสุคติ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้นพระพุทธเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

จงดูโลกพร้อมด้วยเทวโลก ผู้ตั้งมั่นลงแล้วในนามรูป เพราะความเสื่อมไปจากปัญญา โลกพร้อมด้วยเทวโลกย่อมสำคัญว่า นามรูปนี้เป็นของจริง ปัญญาอันให้ถึงความชำแรกกิเลสนี้แล ประเสริฐที่สุดในโลก ด้วยว่าปัญญานั้นย่อมรู้ชัดโดยชอบซึ่งความสิ้นไปแห่งชาติและภพ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมรักใคร่ต่อพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ผู้มีสติ มีปัญญา ร่าเริง ผู้ทรงไว้ซึ่งสรีระอันมีในที่สุด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |