| |
พุทธภาษิตเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย   |  

ในมรณัสสติกถา อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส แห่งคัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสาจารย์ได้แสดงพระพุทธภาษิตที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีนิมิตเครื่องหมายปรากฏให้เห็นล่วงหน้า ๕ ประการรุ.๖๙๖ คือ

ชีวิตํ พฺยาธิ กาโล จ    เทหนิกฺเขปํ คติ
ปญฺเจเต ชีวโลกสฺมึ    อนิมิตฺตา น นายเร ฯ

แปลความว่า

ชีวิต ๑ ความเจ็บไข้ ๑ กาลเวลา ๑ ที่ทอดร่างกายตาย ๑ คติที่ไป ๑ สภาวะ ๕ ประการในโลกของชีวิตนี้ ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ไม่มีใครรู้ได้ ฯ

อธิบายว่า

สิ่งที่หานิมิตหมายบ่งบอกให้รู้ก่อนไม่ได้นั้น ได้แก่ อายุของสัตว์ทั้งหลาย ๑ ความเจ็บไข้ ๑ กำหนดกาลเวลา ๑ สถานที่ทอดร่างกายตาย ๑ คติที่ไปเกิดของสัตว์ทั้งหลายที่ตายไปแล้ว ๑ สภาวะทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นของไม่มีนิมิตเครื่องหมายบ่งบอกให้รู้ล่วงหน้าก่อนได้ และใคร ๆ ก็กำหนดรู้ได้ยาก สมดังหลักฐานที่มาในอรกสูตร มหาวรรค อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาตรุ.๖๙๗ แสดงไว้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีครูชื่ออรกะ เป็นเจ้าลัทธิผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิรุ.๖๙๗ มีสาวกหลายร้อยคน ได้แสดงธรรมแก่สาวกอย่างนี้ว่า “ดูกรพราหมณ์ ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายมีประมาณน้อย เล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย

๑. ชีวิตเปรียบเหมือนหยาดน้ำค้าง หยาดน้ำค้างที่เกาะอยู่บนยอดหญ้า เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ย่อมเหือดแห้งไปอย่างรวดเร็ว ตั้งอยู่ได้ไม่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เปรียบด้วยหยาดน้ำค้าง ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นของเล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย

๒. ชีวิตเปรียบเหมือนฟองน้ำ เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงมา ฟองน้ำย่อมแตกหายไปอย่างรวดเร็ว ตั้งอยู่ได้ไม่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เปรียบด้วยฟองน้ำ ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นของเล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย

๓. ชีวิตเปรียบเหมือนรอยขีดในน้ำ รอยขีดในน้ำย่อมขาดหายไปอย่างรวดเร็ว ตั้งอยู่ได้ไม่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เปรียบด้วยรอยขีดในน้ำ ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นของเล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย

๔. ชีวิตเปรียบเหมือนกระแสน้ำที่ไหลจากภูเขา แม่น้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา มาจากที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดสิ่งที่พาไปได้ ไม่มีขณะ ไม่มีเวลา หรือชั่วครู่ที่มันจะหยุด โดยที่แท้ แม่น้ำนั้นย่อมไหลบ่าเรื่อยไป แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เปรียบด้วยแม่น้ำที่ไหลมาจากภูเขา ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นของเล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย

๕. ชีวิตเปรียบเหมือนก้อนเขฬะ บุรุษผู้มีกำลัง อมก้อนเขฬะไว้ที่ปลายลิ้นแล้วพึงถ่มทิ้งไปโดยไม่ยากนัก แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เปรียบด้วยก้อนเขฬะ ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นของเล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย

๖. ชีวิตเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ชิ้นเนื้อที่เขาใส่ไว้ในกระทะเหล็กที่ถูกเผาไฟตลอดทั้งวัน ย่อมหดหายไปอย่างรวดเร็ว ตั้งอยู่ได้ไม่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นของเล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย

๗. ชีวิตเปรียบเหมือนโคที่เขาจูงไปฆ่า แม่โคที่จะถูกฆ่า ถูกเขาจูงไปสู่ที่ฆ่า เมื่อแม่โคนั้นยกเท้าขึ้นครั้งใด ก็ยิ่งใกล้จะถูกฆ่า ใกล้ต่อความตายเข้าไปทุกที แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เปรียบด้วยแม่โคที่จะถูกฆ่าฉันนั้นเหมือนกัน เป็นของเล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุขัยได้ประมาณ ๖๐,๐๐๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕๐๐ ปี จึงจะมีสามีได้ สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอาพาธเพียง ๖ อย่างเท่านั้น คือ หนาว ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืนอย่างนี้ ดำรงอยู่ได้นานอย่างนี้ และมีอาพาธน้อยอย่างนี้ ไฉนครูอรกะนั้น จึงยังคงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า “พราหมณ์ ชีวิตของมนุษย์ มีประมาณน้อย เล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย”

ภิกษุทั้งหลาย ปัจจุบันนี้ เมื่อจะกล่าวถึงชีวิตนั้นให้ถูกต้อง พึงกล่าวว่า “ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายมีประมาณน้อย เล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอกสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย” ภิกษุทั้งหลาย ปัจจุบันนี้ ผู้มีอายุยืนจะอยู่ได้ ๑๐๐ ปี น้อยกว่านั้นก็มี มากกว่านั้นก็มี ส่วนคนที่อยู่ได้ถึง ๑๐๐ ปี จะอยู่ได้ ๓๐๐ ฤดูเท่านั้น คือ ฤดูหนาว ๑๐๐ ฤดูร้อน ๑๐๐ ฤดูฝน ๑๐๐ คนที่อยู่ได้ถึง ๓๐๐ ฤดู จะอยู่ได้ถึง ๑,๒๐๐ เดือน คือ ฤดูหนาว ๔๐๐ เดือน ฤดูร้อน ๔๐๐ เดือน ฤดูฝน ๔๐๐ เดือน คนที่อยู่ได้ถึง ๑,๒๐๐ เดือน จะอยู่ได้ถึง ๒,๔๐๐ ครึ่งเดือน คือ ฤดูหนาว ๘๐๐ ครึ่งเดือน ฤดูร้อน ๘๐๐ ครึ่งเดือน ฤดูฝน ๘๐๐ ครึ่งเดือน คนที่อยู่ได้ถึง ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน จะอยู่ได้ถึง ๓๖,๐๐๐ ราตรี คือ ฤดูหนาว ๑๒,๐๐๐ ราตรี ฤดูร้อน ๑๒,๐๐๐ ราตรี ฤดูฝน ๑๒,๐๐๐ ราตรี คนที่อยู่ได้ถึง ๓๖,๐๐๐ ราตรี จะบริโภคอาหารได้ ๗๒,๐๐๐ มื้อ คือ ฤดูหนาว ๒๔,๐๐๐ มื้อ ฤดูร้อน ๒๔,๐๐๐ มื้อ ฤดูฝน ๒๔,๐๐๐ มื้อ นับรวมถึงการดื่มน้ำนมมารดาและเหตุที่ทำให้ไม่ได้บริโภคอาหาร ในข้อนั้น เหตุที่ทำให้ไม่ได้บริโภคอาหาร มีดังนี้ คนโกรธก็ไม่บริโภคอาหาร คนมีทุกข์ก็ไม่บริโภคอาหาร คนเจ็บไข้ก็ไม่บริโภคอาหาร คนรักษาอุโบสถก็ไม่บริโภคอาหาร และคนหาอาหารไม่ได้ก็ไม่บริโภคอาหาร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้กำหนดอายุ กำหนดประมาณอายุ กำหนดฤดู กำหนดปี กำหนดเดือน กำหนดครึ่งเดือน กำหนดราตรี กำหนดวัน กำหนดอาหาร และกำหนดอันตรายแห่งการบริโภคอาหารของมนุษย์ผู้มีอายุ ๑๐๐ ปี ด้วยประการฉะนี้แล ภิกษุทั้งหลาย กิจอันใด ที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจอันนั้น เราได้กระทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่างรุ.๖๙๙ เธอทั้งหลายจงเพ่งรุ.๗๐๐ อย่าประมาท อย่าเป็นผู้มีวิปปฏิสาร [ความเดือดร้อนใจ] ในภายหลังเลย นี้เป็นอนุสาสนีของเราเพื่อเธอทั้งหลาย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |