| |
ความหมายของรูปหมวดต่าง ๆ   |  

ผู้เขียนได้รวบรวมชื่อและความหมายของหมวดรูปปรมัตถ์ในรูปสมุทเทสนัยมาแสดงไว้ในที่นี้ เพื่อสะดวกแก่การกำหนดรู้และจดจำตามลำดับดังต่อไปนี้

มหาภูตรูป หมายถึง รูปที่ใหญ่และปรากฏชัด ทั้งเป็นที่อาศัยของรูปอื่น ๆ

อุปาทายรูป หมายถึง รูปที่ต้องอาศัยมหาภูตรูปเกิด

ปสาทรูป หมายถึง รูปชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรมมีความใส เป็นเครื่องรับ ปัญจารมณ์ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ และโผฎฐัพพารมณ์ได้ ตามสภาพของตน

วิสยรูป หมายถึง รูปที่เป็นอารมณ์ของปัญจวิญญาณจิต มีจักขุวิญญาณจิต เป็นต้น

โคจรรูป หมายถึง รูปเป็นที่โคจร คือ ท่องเที่ยวไปแห่งจิตและเจตสิก ได้แก่ รูปที่มีสภาพเป็นอารมณ์แก่จิตและเจตสิกนั่นเอง

ภาวรูป หมายถึง รูปที่แสดงภาวะ คือ บ่งบอกให้ทราบถึงเพศหญิง เพศชาย ซึ่งเป็นสุขุมรูปมีสภาพเป็นธัมมารมณ์ที่สามารถกำหนดรู้ได้ทางใจเท่านั้น

หทยรูป หมายถึง รูปที่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ คือ กุศลกรรม อกุศลกรรม ขึ้นมาได้

ชีวิตรูป หมายถึง รูปที่เป็นเหตุให้สหชาตรูป [รูปที่เกิดพร้อมกัน ได้แก่ กัมมชรูป ๑๘]ทั้งหลายเป็นอยู่ได้ คือ รูปที่รักษากัมมชรูปที่เกิดพร้อมกันกับตนให้เป็นไปได้จนหมดอายุลง

อาหารรูป หมายถึง กพฬีการาหาร คือ อาหารที่เป็นคำหรือเป็นของที่สามารถกลืนกินได้ อันได้แก่ โอชารูป

โอชารูป หมายถึง ธรรมชาติที่ยังรูปให้เกิดขึ้นติดต่อกันไปพร้อมกับความเกิดขึ้นของตน ได้แก่ โอชาที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ

ปริจเฉทรูป หมายถึง รูปที่เป็นเขตแดนคั่นระหว่างรูปกลาปต่อรูปกลาป ให้แยกจากกันได้

วิญญัติรูป หมายถึง อาการพิเศษที่ให้รู้ความประสงค์ได้ ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายและวาจา

วิการรูป หมายถึง อาการพิเศษของนิปผันนรูป [อินทริยนิปผันนรูป คือ รูปที่เกี่ยวเนื่องด้วยสิ่งมีชีวิต หรือรูปในร่างกายของสัตว์มีชีวิต] อันได้แก่ ความเบา ความอ่อน และความควรแก่การงานของนิปผันนรูป ซึ่งเป็นรูปที่เกิดขึ้นกับสัตว์มีชีวิตเท่านั้น และวิการรูปทั้ง ๓ นี้ เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดพร้อมกันทั้ง ๓ รูป โดยเกิดขึ้นในขณะที่ร่างกายสบายเป็นปกติ ไม่เจ็บป่วย มีความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า

ลักขณรูป หมายถึง รูปที่เป็นเหตุแห่งการกำหนดวินิจฉัยได้ว่าเป็นสังขตธรรม อันได้แก่ ความเกิดขึ้น ความสืบต่อ ความแก่ และความดับของนิปผันนรูป ซึ่งได้แก่ อาการเป็นไปของนิปผันนรูป คือ ความเกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลง และความดับไปของนิปผันนรูป ที่พระโยคาวจรสามารถกำหนดพิจารณาให้เห็นโดยความเป็นไตรลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของนิปผันนรูปได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |