| |
วิปลาสธรรม   |  

วิปลาสธรรม หมายถึง ความเห็นที่คลาดเคลื่อนไปจากสภาพแห่งความเป็นจริง ซึ่งสภาพแห่งความเป็นจริงนั้น สิ่งทั้งหลาย เป็นอสุภะ คือ ความไม่สวยไม่งาม เป็นอนิจจะ คือ ความไม่เที่ยงแท้ไม่ยั่งยืน เป็นทุกขะ คือ ไม่ใช่ของสุขสบาย และทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้นาน เป็นอนัตตะ คือ ไม่ใช่ตัวตนที่จะพึงบังคับบัญชาว่ากล่าวให้เป็นไปตามใจปรารถนาได้

ต้นเหตุแห่งวิปลาส

๑. ทิฏฐิวิปลาส วิปลาสไปเพราะความเห็นผิด
๒. จิตตวิปลาส วิปลาสไปเพราะความเข้าใจผิด
๓. สัญญาวิปลาส วิปลาสไปเพราะความสำคัญผิด

วิปลาสธรรม ๑๒

วิปลาส ๓ อย่างนี้ แต่ละอย่าง ย่อมเป็นไปในอาการ ๔ อย่าง คือ

๑. ทิฏฐิวิปลาส วิปลาสไปเพราะความเห็นผิด ๔ ประการ คือ

(๑) สุภทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดไปว่า เป็นสิ่งสวยงาม
(๒) สุขทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดไปว่า เป็นความสุขสบาย
(๓) นิจจทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดไปว่า เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน
(๔) อัตตทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดไปว่า เป็นตัวเป็นตน

๒. จิตตวิปลาส วิปลาสไปเพราะความเข้าใจผิด ๔ ประการ คือ

(๑) สุภจิตตวิปลาส ความเข้าใจผิดไปว่า เป็นสิ่งสวยงาม
(๒) สุขจิตตวิปลาส ความเข้าใจผิดไปว่า เป็นความสุขสบาย
(๓) นิจจจิตตวิปลาส ความเข้าใจผิดไปว่า เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน
(๔) อัตตจิตตวิปลาส ความเข้าใจผิดไปว่า เป็นตัวเป็นตน

๓. สัญญาวิปลาส วิปลาสไปเพราะความสำคัญผิด ๔ ประการ คือ

(๑) สุภสัญญาวิปลาส ความสำคัญผิดไปว่า เป็นสิ่งสวยงาม
(๒) สุขสัญญาวิปลาส ความสำคัญผิดไปว่า เป็นความสุขสบาย
(๓) นิจจสัญญาวิปลาส ความสำคัญผิดไปว่า เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน
(๔) อัตตสัญญาวิปลาส ความสำคัญผิดไปว่า เป็นตัวเป็นตน

ดังนั้น จึงรวมเป็นวิปลาสธรรม ๑๒ ประการด้วยกัน

การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายว่า สิ่งทั้งปวงเป็นอสุภะ ล้วนแต่ไม่สวยไม่งาม สิ่งทั้งปวงเป็นอนิจจัง ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ ล้วนแต่เป็นของไม่สุขไม่สบาย สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา ล้วนแต่ไม่ใช่ตัวตนที่จะพึงบังคับบัญชาว่ากล่าวให้เป็นไปตามใจปรารถนาได้ การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายเช่นนี้ เรียกว่า โยนิโสมนสิการ

โยนิโสมนสิการ ในเหตุ ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ตัดทิฏฐิวิปลาส จิตตวิปลาสและสัญญาวิปลาสได้ เมื่อตัดวิปลาสธรรมเหล่านี้ได้แล้ว ก็เป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เป็นไปเพื่อพระนิพพาน ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์ จึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “โยนิโสมนสิกาโร ภิกฺขเว มหโต อตฺถาย สํวตฺตติ” แปลความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อันใหญ่หลวง และทรงแสดงว่า โยนิโสมนสิการนี้

๑. ย่อมเป็นไปเพื่อปราบวิจิกิจฉา คือ ความสงสัยที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมทำให้อันตรธานหายไปได้

๒. ย่อมเป็นธรรมที่กั้นอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดไม่ให้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ส่วนที่เกิดแล้วก็ย่อมกำจัดให้หมดไปได้

๓. ย่อมเป็นธรรมที่ยังกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดให้ได้เกิดขึ้น กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้ตั้งมั่นและเจริญยิ่งขึ้นได้

๔. ย่อมเป็นไปเพื่อทำสัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้เจริญมั่นคงยิ่งขึ้น

๕. ย่อมเป็นธรรมที่ยังโพชฌงค์อันเป็นองค์แห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้อริยสัจ ๔ ที่ยังไม่เกิดให้ได้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้ได้ถึงซึ่งความบริบูรณ์

๖. ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม เพื่อความไม่เลอะเลือน เพื่อความไม่เสื่อมสูญ และเพื่อความไม่อันตรธานไปแห่งพระสัทธรรม

ถ้าหากมีความประมาทขาดโยนิโสมนสิการ กลายเป็นอโยนิโสมนสิการแล้ว ก็เป็นเหตุให้วิปลาสธรรม ๑๒ ประการนี้เกิดขึ้นได้ อันเป็นเครื่องปิดกั้นทำให้ไม่รู้ความจริงของรูปนามว่า เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนทั้ง ๓ อย่างนี้แหละเรียกว่า ไตรลักษณ์ แต่บุคคลโดยทั่วไป ไม่รู้แจ้งในไตรลักษณ์ เพราะว่า มีสิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์ไว้ จึงทำให้เพลิดเพลินหลงใหลอยู่ในสิ่งที่ปิดบังนั้นเสีย จึงทำให้ไม่ได้พิจารณาเห็น หรือ มองไม่เห็นไตรลักษณ์


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |