| |
สรุปความเรื่องปีติเจตสิก   |  

ปีติเจตสิก อยู่ในกลุ่ม อัญญสมานราสี คือ หมวดแห่งอัญญสมานเจตสิก ๑๓ เป็น ปกิณณกเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ทั่วไปทุกประเภท แต่ประกอบไม่ได้ทั้งหมด ประกอบได้เป็นบางดวง ตามสมควรที่จะประกอบได้

ปีติเจตสิก เป็น นิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้โดยแน่นอน หมายความว่า เมื่อระบุไว้ว่า ประกอบกับจิตดวงใดได้แล้ว เมื่อจิตดวงนั้นเกิดขึ้น ย่อมมีปีติเจตสิกประกอบร่วมด้วยเสมอ และเมื่อระบุไว้ว่า ไม่ประกอบกับจิตดวงใด เมื่อจิตดวงนั้นเกิดขึ้น ย่อมไม่มีปีติเจตสิกประกอบร่วมด้วยโดยประการทั้งปวง

ปีติเจตสิกย่อมประกอบกับจิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนาเท่านั้น ย่อมไม่ประกอบกับจิตที่เกิดพร้อมด้วยเวทนาอย่างอื่น เพราะสภาวะของปีติ ย่อมมีความปลาบปลื้มยินดีต่ออารมณ์ ซึ่งต้องเกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนาอย่างเดียว

ปีติเจตสิกประกอบกับจิตได้ ๕๑ ดวง ได้แก่ โลภโสมนัส ๔ โสมนัสสันตี-รณจิต ๑ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลโสมนัส ๔ มหาวิบากโสมนัส ๔ มหากิริยาโสมนัส ๔ ปฐมฌานจิต ๑๑ ทุติยฌานจิต ๑๑ ตติยฌานจิต ๑๑

ส่วนจิตที่ปีติเจตสิกไม่ประกอบร่วมด้วยนั้น มี ๗๐ ดวงได้แก่ โทสมูลจิต ๒ สุขสหคตกายวิญญาณจิต ๑ ทุกขสหคตกายวิญญาณจิต ๑ จตุตถฌานจิต ๑๑ และอุเบกขาสหคตจิต ๕๕

เหตุที่ปีติเจตสิกไม่ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ สุขสหคตกายวิญญาณจิต ๑ ทุกขสหคตกายวิญญาณจิต ๑ และอุเบกขาสหคตจิต ๕๕ นั้น เพราะจิตเหล่านี้ ไม่ได้เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา นั่นเอง

เหตุที่ปีติเจตสิกไม่ประกอบกับจตุตถฌานจิต ๑๑ ซึ่งเกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนานั้น เพราะปีติเจตสิกเป็นหนึ่งในองค์ฌาน ๕ ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา แต่เนื่องจากสภาพของปีติเป็นปฏิปักษ์ต่อจตุตถฌานจิต เพราะเป็นองค์ฌานที่ยังหยาบอยู่ เมื่อพระโยคีบุคคลทำการเจริญจตุตถฌานให้เกิดขึ้น ปีติจึงถูกละไปจากความรู้สึก เพราะฉะนั้น ปีติเจตสิกจึงไม่ประกอบกับจตุตถฌานจิต ๑๑ ดวง

ปีติเจตสิก ย่อมเกิดร่วมกับเจตสิกได้ทั้งหมด ๔๖ ดวง [เว้นปีติ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา] มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เมื่อประกอบกับโลภโสมนัส ๔ ดวง ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นปีติ] และโมจตุกเจตสิก ๔ โลติกเจตสิก ๓ ถีทุกเจตสิก ๒ ตามที่จิตแต่ละดวงจะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยได้

เมื่อประกอบกับโสมนัสสันตีรณจิต ๑ หสิตุปปาทจิต ๑ ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๑ [เว้นปีติและฉันทะ] ตามที่จิตแต่ละดวงจะมีเจตสิกอะไรประกอบร่วมด้วยได้

เมื่อประกอบกับมหากุศลโสมนัส ๔ มหาวิบากโสมนัส ๔ มหากิริยาโสมนัส ๔ ปฐมฌานจิต ๑๑ ทุติยฌานจิต ๑๑ ตติยฌานจิต ๑๑ ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นปีติ] และโสภณเจตสิก ๒๕ ตามที่จิตแต่ละดวงจะมีเจตสิกอะไรประกอบร่วมด้วยได้

เมื่อจิตเหล่านั้นเกิดขึ้นพร้อมด้วยเจตสิกทั้งหลายที่ประกอบร่วมด้วย ปีติเจตสิกที่ประกอบกับจิตเหล่านั้น ย่อมเกิดพร้อมกับเจตสิกเหล่านั้นด้วย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |