| |
ลักษณะพิเศษของกุศลจิต   |  

กุศลจิต หมายถึง จิตที่ดีงามหรือจิตที่ไม่มีโทษและให้ผลเป็นความสุข มีคุณสมบัติพิเศษที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกกะ ดังต่อไปนี้

๑. อะนะวัชชะวิปากะลักขะณัง เป็นธรรมชาติที่ไม่มีโทษและให้ผลเป็นความสุข เป็นลักษณะ หมายความว่า สภาพของกุศลนั้น เป็นสภาพที่มีความดีงาม สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีมลทินโทษใด ๆ มาแปดเปื้อนหรือปะปนเลย ย่อมให้เกิดความผ่องใสแก่บุคคลผู้เกิดกุศล และให้ผลเป็นอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจแก่ผู้ทำกุศลนั้นเสมอ

๒. อะกุสะละปะฏิปักขะระสัง มีการเป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศลธรรม เป็นกิจ หมายความว่า เมื่อกุศลเกิดขึ้นแล้ว อกุศลก็ไม่สามารถเกิดขึ้นมาปะปนได้ ต้องหลบไป หรือดับไป และกุศลนี้ มีสภาพที่ตรงกันข้ามกับอกุศลโดยสิ้นเชิง ทั้งโดยสภาพ และโดยการให้ผล กล่าวคือ อกุศลนั้น มีสภาพเศร้าหมองแปดเปื้อนด้วยมลทินโทษคือกิเลสและให้ผลเป็นความทุกข์ต่อไป ส่วนกุศลนั้น มีสภาพผ่องใส สะอาดบริสุทธิ์ ประกอบด้วยประโยชน์เกื้อกูลและให้ผลเป็นความสุขต่อไป

๓. อะกาลุสสิยะปัจจุปปัฏฐานัง มีความไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า เมื่อบัณฑิตทั้งหลายใคร่ครวญพิจารณาด้วยปัญญาอันลึกซึ้งแล้ว ย่อมเห็นสภาพของกุศลได้ว่า เป็นธรรมชาติที่ผ่องใส น่าชื่นชมน่าปรารถนา น่าทะนุถนอมรักษาไว้ให้คงอยู่ และพอกพูนให้เกิดมียิ่งขึ้นไป เพราะไม่มีมลทินโทษใด ๆ มาแปดเปื้อนหรือปะปนร่วมด้วยเลย

๔. โยนิโสมะนะสิการะปะทัฏฐานัง มีการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายในอารมณ์นั้น ๆ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า บุคคลที่จะทำกุศลให้เกิดขึ้น และให้เกิดได้บ่อย ๆ ตลอดทั้งสามารถรักษากุศลความดีนั้นให้ดำรงคงอยู่และเจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีโยนิโสมนสิการ คือ มีการพิจารณาสิ่งทั้งปวงให้เข้าใจโดยความเป็นเหตุเป็นปัจจัย เป็นไปตามกฎแห่งกรรม หรือ กฎแห่งไตรลักษณ์ เป็นต้น โดยอุบายวิธีอันแยบคาย เมื่อทำได้เช่นนี้แล้ว บุคคลนั้น ย่อมทำ พูด คิด ไปในทางที่ทำให้เกิดกุศลได้อย่างสม่ำเสมอ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |