| |
อรรถแห่งบุญ   |  

คำว่า บุญ นั้นมีคำจำกัดความหรือวจนัตถะแสดงว่า “อัตตะโน สันตานัง ปุนาติ โสเธตีติ = ปุญญัง” แปลความว่า การกระทำใด ย่อมชำระสันดานของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ ฉะนั้น การกระทำนั้นจึงชื่อว่า บุญ คำว่า บุญ นี้มีความหมาย ๓ ประการ คือ

๑. เป็นเครื่องชำระสันดานให้หมดจด หมายความว่า เมื่อบุญเกิดขึ้นกับบุคคลใดแล้ว ย่อมชำระสันดานของบุคคลนั้นให้สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากมลทินโทษและภัยพิบัติทั้งปวง และปราศจากความเศร้าหมองเร่าร้อนทั้งหลายได้

๒. ความสุข หมายความว่า เมื่อบุคคลทำบุญอยู่เสมอย่อมเต็มเปี่ยมด้วยบุญ ย่อมมีความภาคภูมิใจในชีวิตของตนเอง เป็นชีวิตที่มีคุณค่าและมีความมั่นใจในอนาคตชาติของตนเองว่า จะต้องดำเนินไปสู่คติอันดีงามแน่นอน ชื่อว่า เป็นชีวิตที่มีความสุขและมีคุณค่าควรภาคภูมิใจ

๓. ความเต็มเปี่ยม หมายความว่า เมื่อบุคคลกระทำบุญอยู่เสมอ ย่อมยังสมบัติทั้งปวงให้เต็มบริบูรณ์ได้ ทั้งมนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติ ตลอดจนเป็นปัจจัยให้ถึงนิพพานสมบัติ เป็นที่สุด เปรียบเหมือนบุคคลที่หมั่นตักน้ำใส่ตุ่มที่มีสภาพดีพร้อม เมื่อตักใส่บ่อย ๆ เข้า น้ำก็ย่อมเต็มตุ่มได้ ฉันใด บุคคลที่หมั่นสั่งสมบุญอยู่เสมอ ๆ ย่อมเต็มด้วยบุญ ฉันนั้นเหมือนกัน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |