| |
มัจฉริยเจตสิก   |  

มัจฉริยเจตสิก เป็นสภาวธรรมที่มีความตระหนี่ ได้แก่ ความหวงแหนในทรัพย์สมบัติ หรือ คุณความดีของตน เมื่อประกอบกับจิตแล้ว ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนมีสภาพกระด้างเพราะอำนาจความตระหนี่ ไม่ต้องการเสียสละทรัพย์สมบัติของตนให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลเหล่าอื่นหรือสัตว์อื่น แม้แต่ตนเองและบุคคลรอบข้าง ก็พลอยได้รับผลกระทบจากความตระหนี่หวงแหนอันเหนี่ยวแน่นนั้น ด้วยการกระทำตนเองและบุคคลรอบข้างให้ได้รับความลำบากเดือดร้อน เพราะความกระเบียดกระเสียนในการใช้จ่ายทรัพย์สมบัติ กลัวแต่ว่า ทรัพย์สมบัติจะสิ้นเปลืองไป ด้วยเหตุนี้ ทรัพย์สมบัติของบุคคลผู้มีความตระหนี่ จึงไม่ได้อำนวยความสุขความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตแก่บุคคลผู้เป็นเจ้าของและบุคคลรอบข้างเลย เปรียบเหมือนลำธารซึ่งมีน้ำใสจืดสนิทเย็นฉ่ำ แต่ว่า อยู่ข้างในกลางป่าลึก น้ำในลำธารนั้นย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลาย ฉันใด ทรัพย์สมบัติของบุคคลผู้มีความตระหนี่ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่บุคคลทั้งหลาย แม้กระทั่งตนเองและบุคคลรอบข้าง ซึ่งอยู่ใกล้ชิดและมีสิทธิ์ในทรัพย์สมบัตินั้น แต่ไม่สามารถบริโภคใช้สอยได้เพราะติดป่าทึบคือความตระหนี่ขวางกั้นไว้ ไม่สามารถไปนำมาใช้สอยได้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

อนึ่ง บุคคลผู้ถูกความตระหนี่ครอบงำอย่างเหนี่ยวแน่นแล้ว ย่อมเป็นบุคคลผู้มีจิตใจคับแคบ เป็นคนเห็นแก่ตัว คิดจะได้ฝ่ายเดียว ไม่คิดจะเสียสละตอบแทนแก่บุคคลทั้งหลาย จึงมักเป็นผู้ที่ไม่มีบุคคลใดอยากคบหาสมาคมด้วย กลายเป็นบุคคลไร้ญาติขาดมิตร มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย และมักมีความลำบากกายใจอยู่เสมอ เพราะคิดถึงแต่เรื่องทรัพย์สมบัติแล้วเกิดความห่วงกังวลในทรัพย์สมบัติของตน ใจหนึ่งอยากจะได้ทรัพย์สมบัติเพิ่มเติมให้มีจำนวนมากขึ้น อีกใจหนึ่งก็กลัวว่า ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่จะสิ้นเปลืองไปเพราะการบริโภคใช้สอย จึงมีแต่ความเป็นอยู่ที่อัตคัดลำบากและทุกข์ร้อนใจยิ่งกว่าบุคคลผู้ยากจนขัดสนทรัพย์เสียอีก เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีความตระหนี่เหนียวแน่น จึงมักมีจิตใจเศร้าหมอง วิตกกังวลเป็นทุกข์อยู่เสมอ เมื่อตายแล้ว จึงมักไปบังเกิดในทุคติ วินิบาต นรก ดังพระพุทธวจนะว่า “จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเ ทุคฺคติ ปาฎิกงฺขา” แปลความว่า เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้ ส่วนบุคคลผู้กำจัดความตระหนี่ได้แล้ว ย่อมบรรเทาความทุกข์ร้อนอันบังเกิดเพราะความวิตกกังวลในเรื่องทรัพย์สมบัติ และสามารถใช้สอยทรัพย์สมบัติให้เกิดความปลอดโปร่งโล่งใจ มีความสุขกายสบายใจได้ ด้วยการใช้สอยทรัพย์สมบัติให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง บุคคลในครอบครัว บิดามารดา ครูอาจารย์ บริวารชน และบริจาคเป็นสาธารณะประโยชน์ และบำเพ็ญกุศลเป็นเสบียงบุญต่อไปในภพหน้า เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนั้นย่อมมีจิตใจสดชื่นเบิกบาน เมื่อตายแล้วจึงมักเป็นผู้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังพระพุทธวจนะว่า “จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเ สุคติ ปาฏิกงฺขา” แปลความว่า เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้

สภาพแห่งมัจฉริยะคือความตระหนี่นี้ พระโสดาบันบุคคลย่อมสามารถละได้โดยเด็ดขาดจากขันธสันดาน ด้วยเหตุนี้ ภาวะของพระโสดาบันจึงข้ามพ้นจากทุคติได้โดยเด็ดขาด คือ สามารถปิดประตูอบายได้อย่างเด็ดขาดแล้ว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |