| |
สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์   |  

เหตุที่ทำให้เกิดวิปลาส คือ มีความเห็นผิด ความเข้าใจผิด สำคัญผิดขึ้นก็เพราะไม่รู้แจ้งในไตรลักษณ์ ที่ไม่รู้แจ้งในไตรลักษณ์ ก็เพราะมีสิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์อยู่ สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์ มี ๓ ประการ คือ

๑. สันตติปิดบังอนิจจัง สันตติ คือ ความสืบต่อของรูปนามที่เกิดขึ้นติดต่อกันอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความดับไปของรูปนามขันธ์ ๕ ทำนองเดียวกับที่เห็นแสงไฟที่ธูป ซึ่งแกว่งหมุนเป็นวงกลมอย่างรวดเร็ว ในที่มืด ทำให้เห็นว่าแสงไฟนั้นติดกันเป็นพืด เป็นวงกลม ฉันนั้น เมื่อไม่เห็นความเกิดดับ ย่อมทำให้เข้าใจผิดว่ารูปนามนี้ไม่มีการเกิดดับ เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนเราเขา เป็นของสวยงามน่าชื่นชมยินดี ต่อเมื่อได้กำหนดพิจารณา จนเกิดปัญญา เห็นความดับไปของนามรูปอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว จึงจะทำลายนิจจวิปลาส ที่เห็นว่าเที่ยง ว่ายั่งยืน และประหาณมานะได้

๒. อิริยาบถปิดบังทุกข์ อันความทุกข์ทั้งหลาย ตามปกติแล้ว ย่อมเกิดจากอิริยาบถ เช่น นั่งมากก็เมื่อยเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาแล้วทนอยู่ไม่ได้ เดินมากก็เมื่อยทนไม่ได้ ยืนมากก็ทนไม่ไหว แม้แต่นอนมากก็ลำบากทนอยู่ไม่ได้นาน เหมือนกัน อิริยาบถเก่าที่เป็นทุกข์นั้น ย่อมรู้เห็นกันได้โดยง่าย แต่อิริยาบถใหม่ที่จะเป็นทุกข์นั้น เห็นได้โดยยาก เมื่อนั่งนานก็เมื่อยทนไม่ได้จึงลุกเดิน ก็คิดว่าการเดินนั้นเป็นสุขสบายเพราะหายเมื่อย เดินนานหน่อยก็เหนื่อยทนไม่ได้อีกจึงนอน ด้วยคิดว่า การนอนนั้นเป็นสุขสบาย เพราะหายเหนื่อย คือ เห็นว่าอิริยาบถที่เปลี่ยนใหม่นั้นเป็นสุข เพราะขณะที่เปลี่ยนใหม่ ๆ นี้ ทุกขเวทนายังไม่ทันเกิดทับถมกันมากนัก แท้จริงอิริยาบถเก่าเป็นทุกข์ อิริยาบถที่เปลี่ยนใหม่ก็จะเป็นทุกข์อีกเหมือนกัน รวมความว่า หนีทุกข์เก่าไปสู่ทุกข์ใหม่นั่นเอง อิริยาบถเก่านั้นเห็นทุกข์ได้ง่าย เพราะทุกขเวทนากำลังมีอยู่ แต่อิริยาบถใหม่ก็ไม่สามารถพ้นจากความทุกข์ไปได้ จะต้องแสดงทุกข์ปรากฏขึ้นมาอย่างแน่นอนไม่เร็วก็ช้า

อิริยาบถเก่าที่กำลังมีทุกข์อยู่ ย่อมเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส คือ ความยินร้าย ไม่พอใจ อิริยาบถใหม่ ที่คิดว่า เป็นสุขนั้น ก็เป็นที่ตั้งแห่งตัณหา หรือ อภิชฌา คือ ความยินดี น่าชอบใจ น่าปรารถนา แต่ว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น เพื่อกำจัดอภิชฌาและโทมนัส ทั้ง ๒ อย่างนี้ คือ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย ครอบงำจิตใจได้ ให้ปัญญารู้เห็นเท่าทัน โดยไม่หลง

ที่กล่าวมานี้ เป็นการกล่าวถึงการเห็นทุกขเวทนา ซึ่งผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ย่อมจะเห็นทุกขเวทนาก่อนเป็นเบื้องต้น เพราะทุกขเวทนาเป็นของหยาบ เห็นได้ง่าย ขั้นที่ ๒ จึงจะเห็นสังขารทุกข์ ที่จะต้องถูกเบียดเบียนโดยความเกิดดับอยู่เป็นนิตย์ ต่อไปก็เห็นทุกขลักษณะ คือ ความเกิดดับเป็นขั้นที่ ๓ และจะปรากฏ ทุกขสัจจะ เป็นขั้นสุดท้าย

ทุกขเวทนา เห็นได้ในอิริยาบถเก่า เห็นสังขารทุกข์ได้ในอิริยาบถใหม่ เห็นทุกขลักษณะได้เมื่อกำหนดนามรูปจนเห็นสันตติขาด และจะเห็นทุกขสัจจะ ได้ใน สังขารุเบกขาญาณ ที่แก่กล้า มีกำลังพอที่จะอนุโลมให้เห็นอริยสัจทั้ง ๔ ได้ เมื่อเห็นทุกข์ ย่อมทำลายสุขทิฏฐิวิปลาสธรรมที่เห็นผิดไปว่า เป็นของสุขสบายนั้นและย่อมประหาณตัณหาได้

๓. ฆนสัญญาปิดบังอนัตตา ฆนสัญญา คือ ความสำคัญผิดคิดว่า รูปนามขันธ์ ๕ นั้น เป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นแท่งทึบอันเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้ ความสำคัญผิดนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า เป็นตัวเป็นตน เป็นคนเป็นสัตว์ เช่น ที่เห็นว่า เป็นคน ก็สำคัญเอาหมดทั้งก้อน หมดทั้งตัวนี้ว่า เป็นคน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าแยกตัวออกไปแล้ว จะมีแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้น หรือ แม้แต่รูปธรรม ที่เห็นได้ง่าย เมื่อแยกรูปธรรมทั้งหมดออกแล้ว ย่อมเห็นได้ว่า มีแต่สิ่งต่าง ๆ หาสิ่งที่เป็นคน เป็นตัวตนนั้นไม่มีเลย ถ้ายังถือทั้งก้อนทั้งแท่งว่า เป็นคนอยู่ ย่อมจะเข้าใจผิดไปว่า เป็นของเที่ยง เพราะยั่งยืนอยู่นับเป็นสิบ ๆ ปี เป็นสุข เป็นแก่นสาร สวยงาม น่ารักน่าใคร่ แต่เมื่อเห็นอนัตตาแล้ว ย่อมทำลายอัตตวิปลาส ความเห็นว่า เป็นตัวเป็นตนนั้นเสียได้ และประหาณทิฏฐิได้

การทำลายสิ่งที่ปกปิดไตรลักษณ์ เพื่อให้เห็นไตรลักษณ์นั้น มีวิธีเดียว คือ การกำหนดพิจารณารูปนามตามวิธีที่เรียกว่า เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |