| |
เหตุให้เกิดปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ๗ ประการ   |  

ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ หมายถึง ปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ ที่เข้าถึงความเจริญมั่นคงดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการตรัสรู้อริยสัจ ๔ และเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน ซึ่งมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ๗ ประการ ดังที่มาในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ทีฆนิกาย มหาวรรคอรรถกถา ซึ่งพระโยคีบุคคลผู้ต้องการเจริญปัสสัทธิให้เข้าถึงความเป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้น พึงปฏิบัติตามวิธีการทั้ง ๗ ประการเหล่านี้ คือ

๑. ปะณีตะโภชะนะเสวะนะตา การบริโภคโภชนะที่ประณีต หมายความว่า บุคคลผู้เจริญปัสสัทธิให้เข้าถึงความสงบระงับตามลำดับเพื่อให้บรรลุถึงความเป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้น ปัจจัยสำคัญเบื้องต้น คือ อาหารที่หล่อเลี้ยงร่างกาย เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้จักเลือกอาหารที่เป็นสัปปายะ คือ อาหารที่มีความเหมาะสมกับธาตุในร่างกายของตน เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่าเบาสบายและแข็งแรง ไม่อึดอัด มีความพร้อมที่จะกระทำกิจต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้จิตใจปลอดโปร่งโล่งสบาย ไม่บริโภคอาหารที่ทำให้ร่างกายอัดอึด เกิดอาการง่วงเหงาหาวนอน หรืออาหารที่แสลงต่อโรคประจำตัวของตน

๒. อุตุสุขะเสวะนะตา การเสพสภาพอากาศหรือฤดูที่สัปปายะ หมายความว่า อากาศและฤดูกาล ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่ง ที่ส่งเสริมสนับสนุนหรือบั่นทอนให้ร่างกายและจิตใจของสัตว์และบุคคลทั้งหลายสดชื่นแข็งแรง หรืออึดอัด เหนื่อยล้าและทรุดโทรม เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เจริญปัสสัทธิภาวนาเพื่อให้บรรลุถึงความเป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ จึงต้องรู้จักเลือกอยู่ในอากาศและฤดูที่เป็นสัปปายะ มีความพอเหมาะกับสภาพร่างกายของตน หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศและฤดูที่ไม่เป็นสัปปายะ หรือหาวิธีการป้องกันสภาพอากาศและฤดูที่เป็นอสัปปายะ เพื่อรักษาสภาพร่างกายให้เป็นปกติอยู่เสมอ อันจะเป็นเหตุให้จิตใจมีความเป็นปกติและดำเนินไปสู่ความเป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ไว้โดยลำดับ

๓. อิริยาปะถะสุขะเสวะนะตา การเสพอิริยาบถที่สัปปายะ หมายความว่า อิริยาบถ คือ การบริหารกายให้เป็นไปโดยธรรมชาติ ได้แก่ การยืน การเดิน การนั่ง การนอน รวม ๔ อย่างนี้ เรียกว่า อิริยาบถใหญ่ และการเหยียด การคู้ การเดินหน้า การถอยหลัง การบิดกาย การพลิกไปมา เป็นต้น เหล่านี้เรียกว่า อิริยาบถย่อย ทั้งอิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อย ล้วนเป็นปัจจัยให้ชีวิตดำเนินไปได้โดยปกติของสัตว์และบุคคลผู้มีรูปร่างกาย ถ้าอยู่ในอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งนานเกินไป ร่างกายย่อมมีอาการผิดปกติ เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้จักปรับเปลี่ยนอิริยาบถให้เป็นไปโดยสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายมีความเป็นปกติ พระโยคีบุคคลผู้เจริญปัสสัทธิภาวนา จึงต้องกำหนดรู้ว่า อิริยาบถใดทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่าหรือมีความเหมาะควรต่อการเจริญกุศลธรรม ก็พยายามปฏิบัติในอิริยาบถนั้นให้มาก และปรับเปลี่ยนไปสู่อิริยาบถอื่น เพื่อความเหมาะสมกับร่างกาย ทั้งต้องหลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ไม่เป็นสัปปายะแก่การเจริญปัสสัทธิ คือ เมื่ออยู่ในอิริยาบถใดแล้ว จิตใจมีอาการไม่สงบไม่ตั้งมั่น หรือฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย ง่วงเหงาหาวนอน เป็นต้น อิริยาบถนั้นชื่อว่า อิริยาปถอสัปปายะ เมื่ออยู่ในอิริยาบถใดแล้ว จิตใจมีอาการสงบระงับ มีสติตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่านซัดส่าย ปลอดโปร่งโล่งใจ น้อมใจไปสู่การพากเพียรพยายาม อิริยาบถนั้น ชื่อว่า อิริยาปถสัปปายะ พระโยคีบุคคลพึงเลือกปฏิบัติในอิริยาปถสัปปายะและหลีกเลี่ยงอิริยาปถอสัปปายะเสีย

๔. มัชฌัตตัปปะโยคะตา การวางตนเป็นกลางในธรรมทั้งปวง หมายความว่า พระโยคีบุคคลผู้เจริญปัสสัทธิภาวนาเพื่อให้เข้าถึงปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้น ต้องรู้จักรักษาจิตใจของตนไม่ให้มีอาการเอนเอียงไปตามสภาวธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ต้องวางใจเป็นกลางในสภาวธรรมทั้งปวง ทั้งธรรมฝ่ายกุศลและธรรมฝ่ายอกุศล มีสติระลึกรู้เท่าทัน มีปัญญาพิจารณารอบรู้เหตุผลของสภาวธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง เพื่อมิให้จิตมีสภาพขึ้นลงตามสภาพของธรรมเหล่านั้น คือ เมื่อสภาวธรรมที่ดีเกิดขึ้น ก็ไม่แสดงอาการตื่นเต้นยินดีจนเกินไป เมื่อสภาวธรรมที่ไม่ดีเกิดขึ้น ก็ไม่แสดงอาการไม่ชอบใจหรือหลงไหลไปตามสภาพของธรรมเหล่านั้น พยายามรักษาใจให้เป็นปกติอยู่เสมอ เพื่อให้ปัสสัทธิ คือ ความสงบแห่งจิตได้ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ จนสามารถบรรลุถึงความเป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์โดยลำดับ

๕. สารัทธะกายะปุคคะละปะริวัชชะนะตา เว้นจากบุคคลผู้ไม่สงบ หมายความว่า บุคคลผู้เจริญปัสสัทธิภาวนาเพื่อให้บรรลุถึงความเป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้น ต้องพยายามรักษาจิตของตนให้เป็นปกติอยู่เสมอ จึงต้องหลีกเลี่ยงบุคคลที่ไม่มีความสงบระงับทางกายและทางวาจาอันบ่งบอกถึงการไม่มีความสงบทางใจด้วย เพราะถ้าไปคลุกคลีเกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านี้แล้ว ย่อมได้พบได้เห็นปฏิกิริยาแห่งความพลุกพล่านกระสับกระส่ายของบุคคลนั้น และได้ฟังวาจาอันเกี่ยวเนื่องกับวจีทุจริตของบุคคลนั้นอยู่เสมอ ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตใจของพระโยคีบุคคลย่อมหวั่นไหวไปตามสภาพของบุคคลนั้น ความสงบระงับที่มีอยู่แล้วย่อมเสื่อมคลายหายไป ส่วนความสงบระงับที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระโยคีบุคคลจึงต้องหลีกเลี่ยงบุคคลเช่นนั้น เพื่อมิให้พบเห็นกิริยาอาการและไม่ต้องฟังเสียงพูดจาอันเกี่ยวเนื่องกับวจีทุจริตนั้น

๖. ปัสสัทธะกายะปุคคะละเสวะนะตา คบบุคคลผู้มีกายสงบระงับหมายความว่า ปัจจัยสำคัญในการรักษาจิตใจให้มีความสงบเป็นปกติอยู่ได้ นอกจากต้องหลีกเว้นไม่คบหาบุคคลผู้ไม่มีความสงบระงับทางกายและวาจาแล้ว ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การคบหาสมาคมกับกัลยาณมิตรผู้มีจิตสงบระงับ เพราะเมื่อได้คบหาสมาคมกับบุคคลเช่นนั้นแล้ว ย่อมได้พบเห็นอาการทางกายที่มีความสำรวมระวังมีปฏิกิริยาที่น่าเลื่อมใส และได้ฟังวาจาที่เป็นสุภาษิต ประกอบด้วยธรรม เช่น กถาวัตถุ ๑๐ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตใจของพระโยคีบุคคลผู้ยังไม่สงบไม่ตั้งมั่น ย่อมถึงความสงบและตั้งมั่นได้ ส่วนสภาพจิตที่เริ่มสงบและตั้งมั่นแล้ว ย่อมถึงความสงบระงับและตั้งมั่นยิ่งขึ้นไป ปัสสัทธิย่อมดำเนินไปสู่ความสงบตามลำดับจนบรรลุถึงความเป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ได้ในที่สุด

๗. ตะทะธิมุตตะตา การน้อมจิตไปในปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ หมายความว่า พระโยคีบุคคลผู้เจริญปัสสัทธิภาวนานั้น ต้องทำจิตให้ฝักใฝ่อยู่ในปัสสัทธิเสมอ ไม่สนใจในอารมณ์อื่น ซึ่งจะทำให้จิตใจห่างเหินจากความสงบระงับ แม้ยังไม่บรรลุถึงความสงบระงับ ก็ต้องน้อมใจไปสู่ความสงบระงับนั้นอยู่เสมอ ไม่เอาใจออกห่างจากแนวทางแห่งความสงบ เมื่อได้บรรลุถึงความสงบบ้างแล้ว ก็พึงทำใจให้เกิดความพอใจอยู่กับความสงบนั้น และเมื่อได้บรรลุถึงความเป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์แล้ว ก็พึงทำใจให้ตั้งมั่นอยู่ในปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้น เพื่อมิให้จิตหลุดลอยไปในอารมณ์อื่น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |