ไปยังหน้า : |
บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาพของตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์ที่พิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้
๑. สะมะวาหิตะลักขะณา มีการชักนำสัมปยุตตธรรมให้สม่ำเสมอกันในหน้าที่ของตน ๆ เป็นลักษณะ หมายความว่า เมื่อตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเพ่งดูสัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตน ซึ่งกำลังทำหน้าที่ของตน ๆ อยู่โดยอาการสม่ำเสมอกัน ด้วยความวางเฉย [อัชฌุเปกขะลักขะณา] เหมือนนายสารถีที่คอยดูม้าซึ่งกำลังวิ่งไปอย่างสม่ำเสมอกัน โดยไม่ต้องกระทำการใด ๆ เพียงแต่จับเชือกหย่อน ๆ ปล่อยให้ม้าวิ่งไปตามปกติ ฉันนั้น สภาพของตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกย่อมวางตนเป็นกลางในสภาวธรรมทั้งหลาย ที่ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอกันแล้ว ไม่ต้องยกจิตหรือข่มจิตเป็นต้นแต่ประการใด
๒. อุนาติกะตา นีวะระณะระสา วา ปักขะปาตุปัจเฉทะนะระสา มีการห้ามไม่ให้สัมปยุตตธรรมบกพร่องและเกินเลยต่อหน้าที่ของตน ๆ เป็นกิจ หรือ มีการตัดความเข้าไปเป็นพวก [แบ่งพรรคแบ่งพวก] เป็นกิจ หมายความว่า เมื่อตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำหน้าที่คอยควบคุมสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตน ไม่ให้ทำหน้าที่เกินความพอดี หรือไม่ให้หย่อนยานเกินไป เหมือนนายสารถีที่มีหน้าที่คอยควบคุมม้าให้วิ่งไปพร้อม ๆ กัน โดยถูกทาง ฉันนั้น
๓. มัชฌัตตะภาวะปัจจุปปัฏฐานา มีความเป็นไปอย่างกลาง ๆ ในอารมณ์ ของสัมปยุตตธรรม เป็นอาการปรากฏ เหมือนนายสารถีมองดูม้าที่กำลังวิ่งไปอย่างสม่ำเสมอเท่าเทียมกันแล้วจึงวางเฉย ไม่ต้องขวนขวาย ต่อม้านั้น ๆ แต่อย่างใด
๔. สัมปะยุตตะธัมมะปะทัฏฐานา มีสัมปยุตตธรรม เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า เหตุใกล้ที่ทำให้ตัตตรมัชฌัตตตาเกิดขึ้น ก็คือ สัมปยุตตธรรม ได้แก่ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกนั่นเอง อนึ่ง การฝึกฝนอบรมจิตเท่านั้น จึงจะสามารถทำให้ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกมีกำลังและสามารถวางใจเป็นกลางได้ในสภาวการณ์ทั้งปวง
ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ในขณะที่รับสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ คือ มัชฌัตตสัตวบัญญัติ ได้แก่ สัตว์หรือบุคคลที่เป็นกลาง ๆ ไม่ได้เป็นที่รัก ไม่ได้เป็นที่น่าสงสาร และไม่ได้เป็นที่เกลียดชัง ท่านเรียกว่า อุเบกขาพรหมวิหาร เป็นเจตสิกที่เป็นตัวกลาง ทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนในขณะนั้น ทำกิจของตน ๆ โดยสม่ำเสมอกัน เปรียบเหมือนนายสารถีผู้วางเฉยต่อม้าอาชาไนยที่วิ่งเรียบไป ฉันนั้น