| |
บทสรุปเรื่องภาวรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๒๗๓ ท่านได้แสดงสรุปความของภาวรูปไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า ภาวะ คือ เหตุให้เกิดความเข้าใจและเป็นที่มาของชื่ออย่างนี้ว่า นั่นคือหญิง นั่นคือชาย ในกระแสขันธ์ [รูปนามขันธ์ ๕ ทั้งหมด] ที่เกิดร่วมกันกับภาวรูป หรือเป็นเหตุให้เกิดเพศเป็นต้นในกระแสขันธ์ดังกล่าว

การที่องค์ประกอบของร่างกาย มีสัณฐาน เป็นต้น มีลักษณะไม่สะอาดเป็นต้นนั้น หมายถึง ภาวะที่แสดงเพศเป็นหญิงและเป็นชายโดยตรง ทั้งการพ้นจากสภาพทั้ง ๒ อย่างนั้น ก็เป็นภาวะที่แสดงเพศแห่งบัณเฑาะก์ ลักษณะอันไม่สะอาดเป็นต้นย่อมปรากฏตามสมควรในรูปศัพท์ที่เรียกว่า บทอักษร และในเนื้อความของรูปศัพท์ ดังนั้น รูปศัพท์ที่ไม่มีอินทรีย์ [ความเป็นหญิงหรือชาย] และเนื้อความของศัพท์มีต้นไม้เป็นต้น จึงอาจเป็นอิตถีลิงค์ ปุงลิงค์ และนปุงสกลิงค์ได้โดยปริยาย [ลิงค์โดยสมมุติ]

ภาวะของความเป็นหญิง มีลักษณะประจำเพศที่ไม่สะอาด รวมถึงสัณฐาน การกระทำ และอาการ ภาวะของความเป็นชาย มีลักษณะประจำเพศที่สะอาดเป็นต้น ส่วนภาวะของความเป็นบัณเฑาะก์ มีลักษณะประจำเพศที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างเพศทั้ง ๒ [คือหญิงกับชาย] ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า เพศหญิงสกปรกกว่าเพศชาย และไม่ได้หมายความว่า เพศชายสะอาดกว่าเพศหญิง แต่หมายถึง รูปศัพท์ที่แสดงเพศทางไวยากรณ์ [คือตัวหนังสือเท่านั้น] กล่าวคือ ภาษาบาลีจะแสดงเพศประจำศัพท์โดยทั่วไป ศัพท์ที่ลงวิภัตตินามแล้ว ประกอบรูปเข้าใจง่าย ไม่สับสน เรียกว่า มีลักษณะสะอาด ท่านบัญญัติว่า ปุงลิงค์ [เพศชาย] ส่วนศัพท์ที่ลงวิภัตตินามแล้วประกอบรูปศัพท์ที่สับสนเข้าใจยาก เรียกว่า ลักษณะไม่สะอาด ท่านบัญญัติว่า อิตถีลิงค์ [เพศหญิง] ส่วนศัพท์ปานกลาง ที่ไม่ยากและไม่ง่ายนัก เรียกว่า มีลักษณะก้ำกึ่ง ท่านบัญญัติว่า นปุงสกลิงค์ [เพศบัณเฑาะก์] แม้เนื้อความของศัพท์ก็มีเพศตามศัพท์นั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ ศัพท์ที่กล่าวถึงสัตว์บุคคลที่ปรากฏเพศจริง หรือสิ่งที่ไม่ปรากฏเพศและไม่มีชีวิต เช่น ต้นไม้ ภูเขา เป็นต้น จึงมีเพศตามไวยากรณ์ทั้งหมด

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๒๗๔ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องภาวรูปไว้ดังต่อไปนี้

รูปทั้ง ๒ ชื่อว่า ภาวรูป เพราะทำวิเคราะห์ว่า เป็นเหตุให้เรียกว่าหญิงและให้รู้ว่าเป็นหญิงเป็นต้น ฯ ก็ภาวรูปนั้นแผ่ไปอยู่ทั่วสรีระทั้งสิ้น เหมือนกายินทรีย์ ฯ

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะรุ.๒๗๕ ได้แสดงสรุปความเรื่องภาวรูปไว้ดังต่อไปนี้

ร่างกายของสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ที่จะรู้ได้ว่า เป็นเพศหญิงหรือเพศชายนั้น ก็เพราะอาศัยเครื่องแสดงให้รู้ ๔ อย่าง คือ

๑. ลิงคะ ได้แก่ รูปร่างสัณฐาน มีแขน ขา หน้า ตา เพศ เป็นต้น

๒. นิมิตตะ ได้แก่ เคื่องหมาย เช่น หนวด เครา เป็นต้น

๓. กุตตะ ได้แก่ นิสัย เช่น การเล่น การกระทำต่าง ๆ เป็นต้น

๔. อากัปปะ ได้แก่ กิริยาอาการ เช่น การเดิน ยืน นั่ง นอน การกิน การพูด เป็นต้น

เครื่องแสดงให้รู้ถึงเพศทั้ง ๔ อย่างนี้ ย่อมปรากฏเป็นไปตามภาวรูปทั้ง ๒ ถ้าอาการทั้ง ๔ อย่างนี้เกิดขึ้นโดยอาศัยอิตถีภาวรูปเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองแล้ว ย่อมมีรูปร่างสัณฐานกิริยาอาการเป็นหญิง และถ้าอาการทั้ง ๔ อย่างนี้เกิดขึ้นโดยอาศัยปุริสภาวรูปเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองแล้ว ย่อมมีรูปร่างสัณฐานและกิริยาอาการเป็นชาย

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๒๗๖ ได้แสดงสรุปความเรื่องภาวรูปไว้ดังต่อไปนี้

บรรดาสัตว์ทั้งหลายในโลก [กามโลก] นี้ ที่จะรู้ได้ว่า เพศหญิง หรือเพศชายนั้น ต้องอาศัยเครื่องหมายที่แสดงออกให้รู้ภาวะเพศได้ ๔ ประการ คือ ลิงคะ นิมิตตะ กุตตะ และอากัปปะ [ดังกล่าวแล้ว]

เครื่องหมายที่แสดงให้รู้ถึงเพศชายหรือเพศหญิงทั้ง ๔ ประการเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นโดยอาศัยอิตถีภาวรูปหรือปุริสภาวรูปเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครอง รูปร่างสัณฐาน เครื่องหมาย นิสัย และกิริยาอาการ จึงแตกต่างกันไป ซึ่งให้รู้ได้ว่า เป็นเพศหญิงหรือเพศชาย

ภาวรูป เริ่มปรากฏเกิดขึ้นตั้งแต่ในปฏิสนธิกาล คือ เกิดพร้อมกับอุปปาทขณะของปฏิสนธิจิตเป็นต้นมา ส่วนทรวดทรงสัณฐาน เครื่องหมาย นิสัย และกิริยาอาการต่าง ๆ ย่อมตั้งขึ้นในปวัตติกาล อุปมาเหมือนพืช [เชื้อ] เมื่อพืชมีอยู่ ต้นไม้ที่อาศัยพืชเป็นปัจจัยให้เติบโตเจริญขึ้น เป็นกิ่ง ก้าน ดอก ผล ย่อมมีขึ้นตามมาได้

ภาวรูปที่แสดงความเป็นหญิงหรือความเป็นชายทั้ง ๒ อย่างนี้ เกิดจากกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน กล่าวคือ

ถ้าชาติปางก่อนได้ประกอบกุศลกรรมที่มีกำลังอย่างอ่อนเป็นทุพพลกุศลกรรม คือ กรรมที่ประกอบด้วยศรัทธาปสาทะ ที่เต็มไปด้วยความหวั่นไหว [อวิสทฺธาการ] ทุพพลกุศลกรรมนั้นย่อมกระทำกัมมชรูปชนิดที่เป็นอิตถีภาวรูปให้ปรากฏ

ผู้ที่ได้ทำกุศลกรรมแต่ชาติปางก่อนไว้ด้วยพลวกุศลกรรม คือ กุศลกรรมที่มีกำลังเข้มแข็ง ประกอบด้วยศรัทธาปสาทะอันแก่กล้า และอธิโมกข์คือการตัดสินใจอันเด็ดเดี่ยว ปราศจากความหวั่นไหว พลวกุศลกรรมนั้นย่อมกระทำปุริสภาวรูปให้ปรากฏเป็นเพศชาย

ส่วนอบายสัตว์ที่เกิดเป็นเพศผู้เพศเมียนั้น ก็ด้วยอำนาจแห่งพลวอกุศลกรรมและทุพพลอกุศลกรรมเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ท่านที่ปรารถนาจะเกิดเป็นเพศชายหรือเพศหญิงต่อไปในภายหน้า ย่อมสามารถปรับปรุงกุศลกรรมของตนให้เข้มแข็งหรือย่อหย่อนได้ตามใจปรารถนา ภาวรูป ย่อมจะเป็นไปตามความประสงค์ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |