ไปยังหน้า : |
ความเกิดขึ้นและความเป็นไปของรูปธรรมในภูมิต่าง ๆ นั้น ย่อมมีรูปธรรมได้ตามสมควรแก่ภูมิ และบางภูมิ รูปธรรมย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เลย ดังคาถาสังคหะ [ที่๑๑] แสดงไว้ว่า
อฏฺวีสติ กาเมสุ | โหนฺติ เตวีส รูปิสุ | |
สตฺตรเสวาสญฺนํ | อรูเป นตฺถิ กญฺจิปิ ฯ |
แปลความว่า
ในกามภูมิ ๑๑ รูปทั้ง ๒๘ ย่อมเกิดได้ ในรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] รูป ๒๓ ย่อมเกิดได้ ในอสัญญสัตตภูมิ ๑ รูป ๑๗ ย่อมเกิดได้ ในอรูปภูมิ ๔ แม้รูปอะไร ๆ ก็เกิดไม่ได้เลย
คาถานี้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงจำนวนรูปที่เกิดได้และเกิดไม่ได้ใน ๓๑ ภูมิ คือ
๑. ในกามภูมิ ๑๑ ได้แก่ อบายภูมิ ๔ กามสุคติภูมิ ๗ รูปธรรมทั้ง ๒๘ ย่อมเกิดได้โดยบริบูรณ์ไม่ยิ่งไม่หย่อนกว่ากัน แต่เมื่อว่าโดยบุคคลแล้ว ถ้าเป็นเพศหญิงก็ต้องเว้นปุริสภาวะ ถ้าเป็นเพศชายก็ต้องเว้นอิตถีภาวะ นอกจากนั้น ผู้ใดมีตา หู จูมก เป็นต้น บกพร่องไปอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ก็ต้องเว้นรูปนั้น ๆ ออกไปตามสมควร เช่น ตาบอด หูหนวก หรือเสียฆานประสาท เป็นต้น รูปเหล่านี้ก็ต้องเว้นไป แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวโดยส่วนรวมแล้ว ในกามภูมิ ๑๑ นั้น รูปทั้ง ๒๘ ย่อมเกิดได้ ดังคาถาที่แสดงว่า “อฏฺวีสติ กาเมสุ”
๒. ในรูปภูมิ ๑๕ ได้แก่ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ และจตุตถฌานภูมิ ๖ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑] มีรูปธรรมเกิดได้เพียง ๒๓ รูป กล่าวคือ ในรูปทั้งหมด ๒๘ นั้น รูปธรรมที่เกิดไม่ได้ในรูปภูมิมี ๕ รูป คือ ฆานปสาทรูป ๑ ชิวหาปสาทรูป ๑ กายปสาทรูป ๑ อิตถีภาวรูป ๑ และปุริสภาวรูป ๑ เพราะเหตุที่รูปทั้ง ๕ นี้ เป็นรูปที่สนับสนุนกามคุณอารมณ์โดยส่วนเดียว และบรรดาพรหมทั้งหลายที่เกิดในรูปภูมิทั้ง ๑๕ ภูมิเหล่านั้น ล้วนเป็นบุคคลที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของรูปฌานกุศล ซึ่งปราศจากกามฉันทะด้วยอำนาจวิกขัมภนปหาน เพราะฉะนั้น รูปทั้ง ๕ นี้ จึงเกิดไม่ได้ในบรรดารูปพรหมทั้งหลาย
ส่วนจักขุปสาทรูปกับโสตปสาทรูปทั้ง ๒ ยังเกิดได้ในรูปพรหมบุคคล เพราะรูปทั้ง ๒ นี้มิได้เป็นปัจจัยสนับสนุนกามคุณอารมณ์อันจะเป็นโทษอย่างเดียว แต่ย่อมให้คุณประโยชน์ได้เป็นอย่างมากอีกด้วย กล่าวคือ ตาหรือจักขุปสาทย่อมมีคุณประโยชน์ในการที่จะได้เห็นการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของผู้ทรงคุณอันประเสริฐ มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ที่เรียกว่า ทัสสนานุตตริยคุณ หูหรือโสตปสาทรูป ย่อมมีคุณประโยชน์ที่จะให้ได้ฟังธรรมอันประเสริฐและนำให้บรรลุมรรคผลพ้นจากวัฏฏทุกข์ได้ ที่เรียกว่า สวนานุตตริยคุณ ด้วยเหตุนี้ รูปทั้ง ๒ คือ ตาและหูนี้จึงยังเกิดได้กับพวกรูปพรหมในรูปภูมิ ๑๕ ดังกล่าวแล้ว
อนึ่ง จำนวนรูป ๒๓ ดังกล่าวนั้น ย่อมเกิดได้กับพวกรูปพรหมในรูปภูมิ ๑๕ และจะไม่มีรูปอย่างใดอย่างหนึ่งขาดตกบกพร่องไปเหมือนกับพวกกามบุคคล เช่น ตาบอด หรือหูหนวก เป็นต้นเลย แต่ตรงกันข้าม ตาและหูของพวกรูปพรหมกลับมีกำลังความสามารถในการมองเห็นได้ในที่ไกล ๆ และแม้ในรูปารมณ์ที่ละเอียด และหูของพวกรูปพรหมก็มีกำลังความสามารถในการได้ยินเสียงแม้ในที่ไกลแสนไกล และสัททารมณ์ที่มีความละเอียดหรือเสียงลึกลับจนถึงขนาดที่เรียกกันว่า พรหมเป็นผู้มีตาทิพย์ มีหูทิพย์ เพราะฉะนั้น ในจำนวนรูปที่เกิดกับพวกรูปพรหมจึงมีจำนวนแน่นอน ๒๓ รูปบริบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่อง ดังคาถาสังคหะที่แสดงว่า “โหนฺติ เตวีส รูปิสุ”
๓. ในอสัญญสัตตภูมิ ๑ ย่อมมีรูปเกิดได้เพียง ๑๗ รูปเท่านั้น ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ ชีวิตรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วิการรูป ๓ และลักขณรูป ๔ รูปอื่น ๆ นอกจากนี้ย่อมไม่เกิดในอสัญญสัตตภูมินั้นเลย ทั้งนี้เพราะพวกอสัญญสัตตพรหมทั้งหลายไม่มีนามธรรม กล่าวคือ ไม่มีจิตและเจตสิกเกิดขึ้นเลยนั่นเอง ดังนั้น รูปอันเป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิกจึงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับพวกอสัญญสัตตพรหม ส่วนภาวรูป ๒ ย่อมไม่มีแก่พวกพรหมอยู่แล้ว เพราะพรหมทั้งหลายเป็นผู้ปราศจากกามราคะแล้ว เพราะฉะนั้น ภาวรูปทั้ง ๒ จึงไม่จำเป็นแก่พรหมทั้งหลายอีกแล้ว ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ ในอสัญญสัตตภูมิ ๑ จึงมีรูปเกิดได้เพียง ๑๗ รูปเท่านั้น ดังคาถาสังคหะที่แสดงว่า “สตฺตรเสวาสญฺนํ”
๔] ในอรูปภูมิ ๔ ซึ่งเป็นภูมิของพวกอรูปพรหม ซึ่งเป็นผู้ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการเจริญปัญจมฌานที่เกี่ยวเนื่องกับรูปวิราคภาวนา คือ ความไม่ยินดีและไม่ปรารถนาในรูปธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น อรูปพรหมทั้งหลายจึงไม่มีรูปเกิดขึ้นเลย ตลอดทั้งภูมิที่ชื่อว่า อรูปภูมิ ก็ไม่มีรูปอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ดังคาถาสังคหะที่แสดงว่า “อรูเป นตฺถิ กิญฺจิปิ”