| |
สันตีรณจิตกับอารมณ์   |  

สันตีรณจิต เป็นวิปากจิต ที่เกิดขึ้นเพื่อไต่สวนปัญจารมณ์ที่ปรากฏทางทวาร ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เหตุที่สันตีรณจิตมี ๓ ดวงนั้น ก็เพราะสภาพของอารมณ์มี ๓ ประเภท คือ

๑. อนิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาโดยสภาวะ ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม ที่ตนได้เคยกระทำไว้แล้วแต่ปางก่อน [ทั้งในชาติก่อนและชาติปัจจุบัน] มีโอกาสปรากฏทางปัญจทวาร ทวารใดทวารหนึ่ง ตามสภาพของอารมณ์ทั้ง ๕ [หรืออารมณ์ ๖] อย่าง คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ [และธัมมารมณ์ที่ปรากฏทางมโนทวารซึ่งตทาลัมพนะเป็นผู้รับต่อจากชวนะ] ฉะนั้น สันตีรณจิตที่จะเกิดขึ้นทำหน้าที่ไต่สวนอนิฏฐารมณ์นี้ จึงต้องเป็นผลของอกุศลจิตด้วย ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิปากจิต ๑ ดวงนั่นเอง

๒. อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่น่าปรารถนาโดยสภาวะระดับปานกลาง ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมที่ตนเองได้ทำไว้แล้วในปางก่อน [ทั้งในชาติก่อนและชาติปัจจุบัน] มีโอกาสปรากฏทางปัญจทวาร ทวารใดทวารหนึ่ง ตามสภาพของอารมณ์ทั้ง ๕ อย่าง คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ [หรือ ๖ อย่างรวมทั้งธัมมารมณ์ด้วย] ฉะนั้น สันตีรณจิตที่เกิดขึ้นทำหน้าที่ไต่สวนอิฏฐมัชฌัตตารมณ์นี้ จึงต้องเป็นผลของกุศลจิตที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา อันเป็นสภาพที่เข้ากันได้กับอารมณ์ที่เป็นปานกลาง ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิปากจิต ๑ ดวงนั่นเอง

๓. อติอิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างยิ่งโดยสภาวะ ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมที่ตนเองได้ทำไว้ในปางก่อน [ทั้งในอดีตชาติและในเวลาที่ผ่านมาแล้วในปัจจุบันชาติ] มีโอกาสปรากฏทางปัญจทวาร ทวารใดทวารหนึ่ง ตามสภาพของอารมณ์ทั้ง ๕ [หรืออารมณ์ ๖] อย่าง คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ [และธัมมารมณ์ที่ปรากฏทางมโนทวารซึ่งตทาลัมพนะเป็นผู้รับ] ฉะนั้น สันตีรณจิต ที่เกิดขึ้นทำหน้าที่ไต่สวนอติอิฏฐารมณ์นี้ จึงต้องเป็นผลของกุศลจิตที่ประกอบด้วยโสมนัสสเวทนา อันเป็นสภาพที่เข้ากันได้กับอติอิฏฐารมณ์ ได้แก่ โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ดวงนั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |