| |
เหตุให้เกิดมหากุศลสสังขาริกจิต ๖ ประการ   |  

มหากุศลจิตที่เป็นสสังขาริก ๔ ดวงนั้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย ๖ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑. สะสังขาริกะกัมมะชะนิตะปะฏิสันธิกะตา เป็นผู้ที่มีปฏิสนธิจิตเกิดมาจากกรรมที่เป็นสสังขาริกจิต หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ปฏิสนธิมาด้วยมหาวิบากที่เป็นสสังขาริกจิต [หรือปฏิสนธิด้วยวิปากจิตที่เป็นอสังขาริกแต่ขาดอุปนิสัยสมบัติพิเศษในเรื่องนั้น ๆ] ทำให้เป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตนเองมาแต่กำเนิด หรือ เป็นผู้ที่ไม่รู้จักตัดสินใจทำอะไรด้วยตนเอง ต้องให้ผู้อื่นกระตุ้นเตือนหรือชักชวนหรือชักนำก่อนแล้วจึงจะทำได้ แม้บุคคลนั้นจะเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจหรือมีความถนัดเจนจัดและชำนาญในเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดีก็ตาม แต่ก็มักจะต้องให้คนอื่นกระตุ้นเตือนหรือชักชวนก่อนแล้วจึงจะทำ หรือเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยเฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้น ขาดความคิดริเริ่ม หรือต้องอาศัยการคิดตริตรองกระตุ้นเตือนตนเองก่อนแล้วจึงจะทำได้ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ไม่มีความริเริ่มในการทำกิจการงานนั้น ๆ ด้วยตนเอง ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำกุศลประเภทต่าง ๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจ หรือไม่มีความถนัดเจนจัดและชำนาญในวิธีการกระทำกุศลประเภทนั้น ๆ มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงเป็นมหากุศลสสังขาริกจิตได้

๒. อะกะละละกายะจิตตะกะตา ไม่มีความสุขกายสบายใจนัก หมายความว่าบุคคลนั้น เป็นผู้ไม่มีความสุขกายสบายใจ มีปัญหาอุปสรรคเข้ามาขัดขวาง เช่น สมาชิกในครอบครัวหรือญาติพี่น้องเกิดเหตุทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน ครอบครัวแตกแยก หรือเกิดโรคภัยไข้เจ็บอยู่เป็นประจำ เกิดความผิดหวังในความรัก ถูกปลดออกจากตำแหน่งหน้าที่การงาน ไร้ยศถาบรรดาศักดิ์ ไร้ที่พึ่งพิงอาศัย หางานทำไม่ได้ เป็นต้น เข้าทำนองที่ว่า “อกหัก หลักลอย คอยงาน สังขารเสื่อม” หรือเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น โจรภัย ถูกโจรปล้น ลักขโมยสิ่งของไปแทบสิ้นเนื้อประดาตัว อัคคีภัย ถูกไฟไหม้บ้านเรือนทรัพย์สินเสียหายไปเป็นอันมาก วาตภัย ถูกลมพายุพัดกระหน่ำบ้านเรือนหรือทรัพย์สินเสียหายไปเป็นอันมาก สัตถิกภัย เกิดภัยจลาจลภัยสงครามรบราฆ่าฟันกันไม่ว่างเว้น ทำให้วางใจต่อสถานการณ์ได้ลำบาก ต้องระวังตัวอยู่เสมอ ราชภัย ผู้นำบ้านเมืองเป็นมิจฉาทิฏฐิไม่นิยมในเรื่องบุญกุศล ห้ามประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ต้องแอบทำอย่างระมัดระวัง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บุคคลนั้น เกิดความไม่สบายใจ เกิดความท้อแท้ เกิดความเฉื่อยชา อืดอาด หรือลังเลไม่มั่นใจ จึงทำให้ขาดความคิดริเริ่มที่จะทำกุศลนั้น ๆ ด้วยตนเอง ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน หรือต้องฝืนใจให้จิตเป็นกุศลอยู่เสมอ ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำกุศลประเภทต่าง ๆ ที่อยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงเป็นมหากุศลสสังขาริกจิตได้

๓. สีตุณหาทีนัง อะขะมะนะพะหุละตา ไม่มีความอดทนต่อความลำบากมีความหนาวความร้อนเป็นต้นให้เคยชิน หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ไม่เคยผ่านความลำบาก ทนร้อนทนหนาวไม่ค่อยได้ เป็นคนอ่อนแอ หนักไม่เอาเบาไม่สู้ หรือเป็นผู้ที่ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี มีความสุขสบายจนเกินไป ทำให้ขาดความกระตือรือร้นที่จะตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ลงไป เป็นผู้ขาดประสบการณ์ในการทำกิจการงานต่าง ๆ มีแต่นั่งงอมืองอเท้า คอยให้คนอื่นหามาประเคนให้จนถึงมือ หรือป้อนให้จนถึงปาก หรือด้วยอุปนิสัยที่เป็นคนเฉื่อยชา ขาดการตัดสินใจที่เด็ดขาด ขาดความคิดริเริ่มที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจ หรือไม่มีความถนัดเจนจัดและชำนาญแล้ว จึงเป็นผู้ที่ไม่มีความริเริ่มตัดสินใจในการทำกุศลนั้น ๆ ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนก่อนแล้วจึงจะทำได้ มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงเป็นมหากุศลสสังขาริกจิตได้

๔. กัตตัพพะกัมเมสุ อะทิฏฐานิสังสะตา ไม่เคยเห็นผลในบุญที่จะพึงทำ หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ทำบุญกุศลไปแล้ว ไม่ค่อยได้รับผลบุญ เพราะถูกอกุศลวิบากบางอย่างในปางก่อนมาเบียดเบียนบีบคั้น เช่น ทำบุญไปแล้ว ครอบครัวก็แตกแยก เกิดความบาดหมางทะเลาะวิวาทกับเพื่อนบ้านอยู่เป็นประจำ ถูกฉ้อโกง เกิดภัยพิบัติ เจ็บป่วยอยู่เสมอ เป็นต้น เข้าทำนองที่ว่า “บุญไม่พา วาสนาไม่ช่วย ที่ป่วยก็หนัก ที่รักก็หน่าย” ดังนี้เป็นต้น ทำให้บุคคลนั้น ๆ ไม่ค่อยเชื่อมั่นในบุญกุศลที่ตนทำไปแล้วว่า จะอำนวยผลเป็นความสุขสบายให้ได้จริงหรือเปล่า ฉะนั้น จึงทำให้เกิดความเฉื่อยชา ทำด้วยความจำใจหรือฝืนใจทำ ด้วยความหวังลึก ๆ ว่า สักวันหนึ่ง กุศลผลบุญคงจะอำนวยผลเป็นความสุขสบายให้แก่เราบ้าง หรือเป็นผู้ที่ไม่มีความตั้งใจในการทำบุญ สักแต่ว่า ทำตามที่เขาชักนำ ขาดการตัดสินใจด้วยตนเอง เป็นผู้ไม่มีจุดยืนของตนเอง ขาดจุดหมายปลายทางของชีวิตหรือเป็นผู้ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความถนัดเจนจัดและชำนาญในวิธีการทำกุศลประเภทนั้น ๆ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำกุศลนั้น ๆ ด้วยตนเอง ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงจะทำสิ่งนั้น ๆ ลงไปได้ ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำกุศลประเภทนั้น ๆ อยู่ หรือกระทำกุศลอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงเป็นมหากุศลสสังขาริกจิตได้

๕. กัมเมสุ อะจิณณะวะสิกะตา เป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีความชำนาญในบุญที่จะทำ หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ขาดประสบการณ์ ขาดความรู้ความเข้าใจในวิธีการทำบุญกุศลประเภทนั้น ๆ ไม่รู้จักวิธีการในการที่จะทำให้ถูกต้อง จึงทำให้เกิดความไม่มั่นใจ เกิดความรวนเรลังเลใจ และขาดความกระตือรือร้นที่จะทำบุกุศลนั้นลงไป หรือด้วยอุปนิสัยที่เป็นคนเฉื่อยชา ขาดการตัดสินใจที่เด็ดขาด ขาดความคิดริเริ่มในการที่จะทำสิ่งต่าง ๆ อย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ไม่มีความริเริ่มในการทำกุศลประเภทนั้น ๆ ด้วยตนเอง ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำกุศลประเภทต่าง ๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจ หรือไม่มีความถนัดเจนจัดและชำนาญ มหากุศลจิตที่เกิดกับบุคคลนั้น จึงเป็นมหากุศลสสังขาริกจิตได้

๖. อุตุโภชะนาทิอะสัปปายะลาภะตา ไม่ได้รับสิ่งที่เป็นสัปปายะ หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมและสภาพสังคมที่ไม่ค่อยดี เช่น อากาศในบริเวณนั้นไม่บริสุทธิ์ สถานที่คับแคบอึดอัด บุคคลรอบข้างไม่ค่อยเจริญตาเจริญใจ คำพูดที่ได้ยินก็ไม่เจริญหู หรือได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสมกับธาตุในร่างกาย หรืออาหารน้อยเกินไป หรือรับประทานมากเกินไปจนอึดอัด เป็นต้น ทำให้เกิดความอึดอัดทางร่างกายหรือทางใจ ทำให้รู้สึกเฉื่อยชาไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่ค่อยมีความกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งต่าง ๆ อีกนัยหนึ่ง เนื่องจากในเวลาที่ทำกุศลนั้น ๆไม่ได้ปัจจัยตามที่ตนต้องการ หรือได้ปัจจัยที่ไม่เหมาะสมแก่ฐานะของตนเอง หรือตนเองไม่สามารถจัดหาสิ่งของที่ประณีตตามที่ต้องการได้ เนื่องจากข้อจำกัดขอบเขตทางด้านฐานะ เป็นต้น หรือไม่ได้ปฏิคาหกผู้รับทานตามที่ตนเองต้องการ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บุคคลนั้น เกิดความเฉื่อยชา เซื่องซึม หรือท้อแท้ ไม่มั่นใจ ขาดความริเริ่มในการทำกุศลประเภทนั้น ๆ ด้วยตนเอง ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้น กระทำกุศลต่าง ๆ ในสถานการณ์เช่นนั้นอยู่ มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงเป็นมหากุศลสสังขาริกจิตได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ในมหากุศลจิตแต่ละดวง จึงมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นได้ ๔ จำพวก คือ

๑. ปัจจัยหลัก คือ เหตุที่ทำให้เกิดมหากุศลจิตแต่ละอย่าง

๒. โดยเวทนา เป็นโสมนัสสเวทนา หรือ เป็นอุเบกขาเวทนา

๓. โดยสัมปโยคะ เป็นญาณสัมปยุตต์ หรือ ญาณวิปปยุตต์

๔. โดยสังขาร เป็นอสังขาริก หรือ สสังขาริก

เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงนำเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดมหากุศลจิตแต่ละอย่างใน ๔ จำพวกนั้น มาจัดเข้าด้วยกันเป็นข้ออธิบายทำความเข้าใจ ก็จะได้ความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่า เพราะมีเหตุปัจจัยเหล่านี้ จึงทำให้มหากุศลจิตแต่ละดวงนั้น เกิดขึ้นได้ และเพราะเหตุปัจจัยเหล่านี้ จึงทำให้มหากุศลจิตแต่ละดวง มีสภาพที่แตกต่างกันออกไป นับได้ ๘ ดวง หรือ ๘ สภาวะด้วยกัน ตัวอย่างเช่น

มหากุศลจิต ดวงที่ ๑

๑. เหตุปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดมหากุศลจิต ได้แก่ ปรโตโฆสะ การบอกเล่า การสอนจากกัลยาณมิตร และ โยนิโสมนสิการ การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย

๒. เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดโสมนัสสเวทนา ได้แก่ เป็นผู้มีปฏิสนธิที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา เป็นต้น

๓. เหตุปัจจัยให้เกิดญาณสัมปยุตต์ ได้แก่ เป็นผู้ชอบคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีปัญญาอยู่เสมอ เป็นต้น

๔. เหตุปัจจัยให้เกิดอสังขาริก ได้แก่ เป็นผู้มีความชำนาญในการทำกุศลนั้นๆ หรือเคยเห็นผลในการทำกุศลนั้น ๆ มาแล้ว เป็นต้น

เมื่อนำเอาเหตุปัจจัยอย่างอื่นของเวทนา สัมปโยคะและสังขาร มาจัดเข้ากันเป็นข้ออธิบายหรือทำความเข้าใจด้วยทำนองนี้แล้ว ย่อมจะได้ความเข้าใจที่กว้างขวางยิ่งขึ้นไป อีกตัวอย่าง เหตุปัจจัยของโสมนัสสเวทนา เช่น เป็นผู้มีความสุขกายสบายใจ เป็นต้น เหตุปัจจัยของญาณสัมปยุตต์ เช่น เป็นผู้ชอบสอบสวนทวนถามท่านผู้รู้อยู่เสมอ เป็นต้น เหตุปัจจัยของอสังขาริก เช่น เป็นผู้มีปฏิสนธิจิตที่เป็นอสังขาริก เป็นต้น ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ จึงทำให้เกิดมหากุศลจิต ดวงที่ ๑ ได้

แม้ในมหากุศลจิตดวงอื่น ๆ ก็พึงนำเอาเหตุปัจจัยของจิตดวงนั้น ๆ มาจัดเข้ากันเป็นข้ออธิบายโดยทำนองเดียวกันนี้ ก็จะทำให้เกิดองค์ความรู้ในเรื่องเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดมหากุศลจิตแต่ละดวงนั้นได้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง สามารถหาวิธีการส่งเสริมหรือสร้างเหตุปัจจัยที่จะทำให้มหากุศลจิตดวงนั้น ๆ เกิดขึ้นและเจริญงอกงามยิ่งขึ้นได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |