| |
เตโชธาตุ มี ๕ อย่าง   |  

ส่วนพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะรุ.๙๔ ได้แสดงประเภทและความหมายของเตโชธาตุไว้ ๕ ประการคือ

๑. อุสมาเตโช คือ เตโชธาตุที่มีประจำอยู่ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ได้แก่ ไออุ่นหรือไอเย็น ซึ่งได้แก่ อุณหภูมิของร่างกายแห่งสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง

๒. สันตาปนเตโช คือ เตโชธาตุที่มีความร้อนมาก ได้แก่ ไฟธาตุที่ทำให้ร้อนจัดจนถึงกับเป็นไข้

๓. ฑหนเตโช คือ เตโชธาตุที่มีความร้อนสูงจัด สามารถเผาผลาญร่างกายให้วิปริตไปได้

๔. ชิรณเตโช คือ เตโชธาตุที่ทำให้ร่างกายแก่ชราทรุดโทรมลง เช่น ทำให้ผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยวย่น เป็นต้น

๕. ปาจกเตโช คือ เตโชธาตุที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร

ท่านอาจารย์พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ดังต่อไปนี้

อุสมาเตโช มีสภาพเป็นอุณหลักษณะ คือ ลักษณะอบอุ่น [หรือร้อน] มีหน้าที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ซึ่งตั้งอยู่ทั่วร่างกาย

ปาจกเตโช มีสภาพเป็นอุณหลักษณะ คือ ลักษณะอบอุ่น [หรือร้อน] มีหน้าที่ทำให้อาหารย่อยสลาย ซึ่งมีอยู่ตั้งแต่ลิ้นไปจนถึงทวารหนัก

ชิรณเตโช มีสภาพเป็นอุณหลักษณะและสีตลักษณะ คือ ลักษณะร้อนและเย็น มีหน้าที่บ่มร่างกายให้แก่ชราทรุดโทรมลงตามลำดับ ซึ่งตั้งอยู่ทั่วร่างกาย

สันตาปนเตโช มีสภาพเป็นอุณหลักษณะ คือ ลักษณะที่ร้อนมากเกินปกติ มีหน้าที่ทำให้ร่างกายร้อนจัดจนเป็นไข้ เป็นเตโชธาตุที่เกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราว [อาคันตุกะ]

ฑหนเตโช มีสภาพเป็นอุณหลักษณะและสีตลักษณะ คือ ลักษณะที่ร้อนมากกว่าสันตาปนเตโช มีหน้าที่ทำให้ร่างกายของบุคคลนั้นเร่าร้อนกระวนกระวาย จนถึงกับแตกสลายหรือตายได้ หรือมีความเย็นจัด จนหนาวสั่นทำให้ถึงตายได้เหมือนกัน

ในเตโชธาตุทั้ง ๕ ประเภทนี้ เตโชธาตุที่มีเป็นประจำอยู่ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายนั้น ได้แก่ อุสมาเตโช กับ ปาจกเตโช สำหรับ สันตาปนเตโช ฑหนเตโช ชิรณเตโช ทั้ง ๓ นี้ ไม่มีอยู่เป็นประจำ ปรากฏขึ้นเพราะ อุสมาเตโช นั้นเอง มีอาการวิปริตไป เช่น คนที่เป็นไข้ตัวร้อน ก็เพราะ อุสมาเตโช ได้แปรสภาพเป็น สันตาปนเตโช หรือถ้ามีไข้สูงจัด จนควบคุมสติไม่อยู่ เกิดอาการเพ้อคลั่ง หรือเร่าร้อนกระสับกระส่าย ก็เพราะ อุสมาเตโช มีสภาพวิปริติมากขึ้นจาก สันตาปนเตโช จนกลายเป็น ฑหนเตโช ไปนั่นเอง และสำหรับบุคคลที่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนอยู่เสมอ หรือผู้ที่ล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัยแล้ว อุสมาเตโช นั้นแหละได้แปรสภาพเป็น ชิรณเตโช ทำให้ปรากฏอาการทรุดโทรมของร่างกาย เช่น ผมหงอก ฟันหัก ตามัว เนื้อหนังเหี่ยวย่น เป็นต้น

อนึ่ง ที่ปรากฏอาการร้อนจัด จนถึงกับกระสับกระส่ายกระวนกระวายนั้น ก็เพราะอำนาจของอุสมาเตโชนั่นเอง เกิดอาการวิปริตผิดปกติด้วยอำนาจกรรมบ้าง จิตบ้าง อุตุบ้าง และอาหารบ้าง เป็นปัจจัยให้ร่างกายของบุคคลนั้นเกิดความวิปริตผิดปกติตามไปด้วย เช่น คนที่เป็นไข้ มีอาการตัวร้อนจัดกว่าคนที่ไม่ได้เป็นไข้ บางคนเป็นไข้มีอาการร้อนสูงจัด ถึงกับเพ้อคลั่ง หรือหนาวจัด จนสั่นไปทั้งตัวก็มี ทั้งนี้ก็เพราะอุสมาเตโชนั่นเอง ได้แปรสภาพเป็นสันตาปนเตโชไป และสันตาปนเตโชก็แปรสภาพเป็นฑหนเตโช จึงทำให้มีอาการร้อนจัดหรือหนาวจัดจนเพ้อคลั่ง ซึ่งบางคนก็ร้องครวญครางออกมาโดยไม่รู้สึกตัว ถ้าใช้ปรอทวัดไข้ ย่อมจะทราบได้ว่ามีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกินปกติมาก แต่บางคนแม้จะใช้ปรอทวัดไข้ ก็ไม่ปรากฏอาการผิดปกติของอุณหภูมิในร่างกายแต่อย่างใด ทั้งที่บุคคลนั้นมีอาการกระสับกระส่ายกระวนกระวายคลุ้มคลั่งหรือหนาวสั่นทุรนทุราย เหมือนคนถูกความร้อนเผาผลาญไปทั้งตัวก็ตาม ทั้งนี้ก็อาจเป็นไปด้วยอำนาจของอกุศลกรรมของบุคคลนั้นส่งให้ก็ได้ ส่วนความแก่ชราของคนและสัตว์ทั้งหลายที่ปรากฏนั้น ก็เพราะอำนาจแห่งอุสมาเตโชที่มีอยู่ประจำในร่างกายของคนและสัตว์นั่นเอง ได้แปรสภาพเป็นชิรณเตโช เผาผลาญให้ร่างกายทรุดโทรมลงตามลำดับ จนปรากฏเป็นอาการแก่ชรา ผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยว หูตาฝ้าฟาง เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |