ไปยังหน้า : |
เอกัคคตา ที่เป็นตัวสมาธินั้น มี ๓ ระดับ อันเกิดจากการเจริญภาวนาทั้ง ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ สมถภาวนา ๑ วิปัสสนาภาวนา ๑ ทำให้สมาธิเกิดขึ้นและแปรเปลี่ยนสภาพสู่ความสงบยิ่งขึ้นตามลำดับกัน ดังนี้
๑. ขณิกสมาธิ หมายถึง สมาธิที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้ชั่วขณะหนึ่งๆ ซึ่งเป็นสภาพของเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดในกามาวจรจิตโดยทั่วไป ทั้งกุศลจิต อกุศลจิต วิปากจิตและกิริยาจิตทั้งหมด หรือเกิดในขณะที่เริ่มต้นเจริญสมถะภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาในขณะที่จิตยังไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียวนั้น หรือในขณะที่กำลังสมาธิยังอ่อนอยู่ องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ในกามาวจรจิต ๕๔
๒. อุปจารสมาธิ หมายถึง สมาธิที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวนั้นได้นานใกล้จะถึงฌาน หรือเรียกว่า สมาธิเฉียดฌาน ซึ่งเป็นสมาธิที่มีกำลังแก่กล้าขึ้นเป็นลำดับจากขณิกสมาธิ โดยอาศัยความบากบั่นในการกำหนดเพ่งบริกรรมในนิมิตของอารมณ์นั้นเนือง ๆ โดยไม่ยอมละเลิกความพยายาม หรือสมาธิที่เกิดขึ้นในขณะแห่งวิปัสสนาญาณ ตั้งแต่อุทยัพพยญาณไปจนถึงโคตรภูญาณ องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ในมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ หรือในมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ [สำหรับพระอรหันต์ที่ทำสมถภาวนาถึงอุปจารสมาธิ]
๓. อัปปนาสมาธิ หมายถึง สมาธิที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว โดยมีความแนบแน่นอยู่ในอารมณ์นั้นอย่างเต็มที่ พร้อมกับการปรากฏเด่นชัดขององค์ฌานและทำการข่มกิเลสนิวรณ์ให้สงบราบคาบเป็นวิกขัมภนปหาน [หมายเอาปุถุชนและพระเสกขบุคคลที่ยังมีกิเลสนิวรณ์เหลืออยู่บ้าง ส่วนพระอรหันต์นั้น ไม่ต้องทำการข่มกิเลสนิวรณ์แล้ว เพียงแต่ทำจิตให้สงบแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น] จนกิเลสนิวรณ์นั้นไม่สามารถกำเริบขึ้นมารบกวนได้ ฌานจิตก็ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับอัปปนาสมาธินี้ หรือเป็นสมาธิในวิปัสสนาญาณที่เข้าถึงมรรคญาณ ผลญาณ ซึ่งสามารถเป็นกำลังสนับสนุนในฐานะเป็นองค์ของมรรค เรียกว่า สัมมาสมาธิมรรค เพื่อผนึกกำลังเข้ากับองค์มรรคอื่น ๆ ให้มีความพร้อมเพรียงเป็นหนึ่งเดียว เรียกว่า มัคคสมังคี ในการประหาณอนุสัยกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน ตามสมควรแก่กำลังแห่งมรรคนั้น ๆ [ยกเว้นสกิทาคามิมรรคที่ประหาณได้เพียงตนุกรปหาน คือ การทำให้เบาบางลงเท่านั้น] ซึ่งจิตที่เข้าถึงอัปปนาสมาธิเหล่านี้ เรียกว่า อัปปนาจิต ได้แก่ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ รวมเป็น ๓๕ หรือ ๖๗ ดวง