ไปยังหน้า : |
ภัยที่เกิดขึ้นประจำสังขาร ซึ่งสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว หลีกเลี่ยงได้ยาก มี ๔ ประการรุ.๗๐๑ คือ
๑. ชาติภัย ภัยเพราะความเกิด
๒. ชราภัย ภัยเพราะความแก่
๓. พยาธิภัย ภัยเพราะความเจ็บ
๔. มรณภัย ภัยเพราะความตาย
อธิบายว่า
บุคคลที่เกิดมาแล้ว ย่อมต้องประสบภัยเหล่านี้ โดยเฉพาะมนุษย์และอบายสัตว์ทั้งหลาย ส่วนเทวดาและพรหมทั้งหลายนั้น แม้จะไม่ประสบกับชราภัยและพยาธิภัยก็ตาม แต่ชาติภัยและมรณภัยนั้นต้องประสบด้วยกันทุกคนไป ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในชราสูตรรุ.๗๐๒ ว่า “ชีวิตนี้น้อยนัก สัตว์ย่อมตาย แม้ภายใน ๑๐๐ ปี ถ้าแม้สัตว์ใดพึงเป็นอยู่ [๑๐๐ ปี] ไซร้ สัตว์นั้นก็ต้องตายแม้เพราะชราโดยแท้แล ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกเพราะสิ่งที่ตนยึดถือว่าเป็นของเรา สิ่งที่เคยหวงแหน เป็นของเที่ยง ไม่มีเลย บุคคลเห็นว่า สิ่งนี้มีอันต้องพลัดพรากจากกันมีอยู่ ดังนี้แล้ว ไม่พึงอยู่ครองเรือน บุรุษย่อมสำคัญสิ่งใดว่า สิ่งนี้เป็นของเรา จำต้องละทิ้งสิ่งนั้นไป แม้เพราะความตาย บัณฑิตผู้นับถือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา ทราบข้อนี้แล้ว ไม่พึงน้อมไปในความเป็นผู้ถือว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นของเรา บุคคลผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็นอารมณ์อันประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด บุคคลย่อมไม่เห็นบุคคลผู้ที่ตนรัก ผู้ทำกาละล่วงไปแล้ว แม้ฉันนั้น บุคคลย่อมกล่าวขวัญกันถึงชื่อนี้ ของคนทั้งหลายผู้อันตนได้เห็นแล้วบ้าง ได้ฟังแล้วบ้าง ชื่อเท่านั้น ที่ควรกล่าวขวัญถึงของบุคคลผู้ล่วงไปแล้ว จักยังคงเหลืออยู่ [ตายแล้วก็เหลือแต่ชื่อเท่านั้น] ชนทั้งหลายผู้ยินดีในสิ่งที่ตนถือว่าเป็นของเรา ย่อมละความโศก ความร่ำไร และความตระหนี่ไม่ได้ เพราะเหตุนั้น มุนีทั้งหลาย ผู้เห็นพระนิพพานว่าเป็นแดนเกษมจากโยคะ ละอารมณ์ที่เคยหวงแหนได้ เที่ยวไปแล้ว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้ไม่แสดงตนในภพ อันต่างด้วยนรก เป็นต้น ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น ผู้เสพที่นั่งอันสงัด ว่าเป็นการอันสมควร มุนีย่อมไม่อาศัยอายตนะทั้งปวงแล้วกระทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก ทั้งไม่กระทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่เกลียดชัง ย่อมไม่ติดในความร่ำไรและความตระหนี่ในสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักและเป็นที่เกลียดชังนั้น เปรียบเหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉันนั้น หยาดน้ำย่อมไม่ติดอยู่บนใบบัว น้ำย่อมไม่ติดอยู่ที่ใบปทุม ฉันใด มุนีย่อมไม่ติดในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง หรืออารมณ์ที่ได้ทราบ ฉันนั้น ผู้มีปัญญาย่อมไม่ทำความสำคัญด้วยรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง หรืออารมณ์ที่ได้ทราบ ย่อมไม่ปรารถนาความบริสุทธิ์โดยทางอื่น ผู้มีปัญญานั้นย่อมไม่ยินดี ย่อมไม่ยินร้ายฉะนี้แล