ไปยังหน้า : |
อกุศลเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายชั่ว ฝ่ายบาป มีสภาพหยาบกระด้าง มีความไม่ดีไม่งาม มีสภาพไม่ฉลาด เป็นไปเพื่อความทุกข์โดยส่วนเดียว เมื่อประกอบกับจิตแล้ว ย่อมทำให้จิตมีสภาพเศร้าหมองเร่าร้อน ตกเป็นอกุศลจิตไปด้วย เพราะฉะนั้น อกุศลเจตสิกจึงประกอบได้เฉพาะในอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น จะประกอบกับจิตประเภทอื่น [คือ อเหตุกจิต ๑๘ และโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง] ไม่ได้เลย
อกุศลเจตสิก มี ๑๔ ดวง แบ่งเป็น ๕ จำพวก คือ
จำพวกที่ ๑ เรียกว่า โมจตุกเจตสิก มี ๔ ดวง คือ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ โมจตุกเจตสิก ๔ ดวงนี้ สามารถประกอบกับอกุศลจิตได้ทั้งหมด ๑๒ ดวง โดยไม่มียกเว้น เพราะฉะนั้น จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัพพากุสลสาธารณเจตสิก แปลว่า เจตสิกที่ประกอบได้ทั่วไปในอกุศลจิตทั้งหมด
จำพวกที่ ๒ เรียกว่า โลติกเจตสิก มี ๓ ดวง คือ โลภะ ทิฏฐิ มานะ โลติกเจตสิก ๓ ดวงนี้ ประกอบเฉพาะในโลภมูลจิต ๘ ดวงเท่านั้น คือ โลภเจตสิกเกิดร่วมกับโลภมูลจิตได้ทั้ง ๘ ดวง ทิฏฐิเจตสิกประกอบได้เฉพาะกับทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ ดวง และมานเจตสิกย่อมประกอบกับทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ ดวงเท่านั้น
จำพวกที่ ๓ เรียกว่า โทจตุกเจตสิก มี ๔ ดวง คือ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ โทจตุกเจตสิก ๔ ดวงนี้ ประกอบได้เฉพาะกับโทสมูลจิต ๒ ดวงเท่านั้น
จำพวกที่ ๔ เรียกว่า ถีทุกเจตสิก มี ๒ ดวง คือ ถีนะ มิทธะ ถีทุกเจตสิก ๒ ดวงนี้ เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตที่เป็นสสังขาริก ๕ ดวงเท่านั้น คือ โลภมูลจิตดวงที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๖ ที่ ๘ และโทสมูลจิตดวงที่ ๒
จำพวกที่ ๕ เรียกว่า วิจิกิจฉาเจตสิก มี ๑ ดวง คือ วิจิกิจฉา ย่อมประกอบกับอกุศลจิตได้ ๑ ดวงเท่านั้น คือ โมหมูลจิตดวงที่ ๑ ที่ชื่อว่า วิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต
ดังจะแสดงความหมายและคำอธิบายรายละเอียดของอกุศลเจตสิกทั้ง ๑๔ ดวงโดยลำดับ ต่อไปนี้
โมจตุกเจตสิก
โมจตุกเจตสิก หมายถึง กลุ่มเจตสิกที่มีโมหเจตสิกเป็นประธาน มี ๔ ดวง คือ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ บรรดาโมจตุกเจตสิกทั้ง ๔ ดวงนี้ แต่ละดวงย่อมประกอบกับอกุศลจิตได้ทั้ง ๑๒ ดวง จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สัพพากุสลสาธารณเจตสิก” หมายความว่า เจตสิกที่ประกอบได้ทั่วไปในอกุศลจิตทั้งหมด
โลติกเจตสิก
โลติกเจตสิก หมายถึง กลุ่มเจตสิกที่มีโลภเจตสิกเป็นประธาน มี ๓ ดวง คือ โลภะ ทิฏฐิ มานะ โลติกเจตสิก ๓ ดวงนี้ ย่อมประกอบในโลภมูลจิต ๘ ดวงเท่านั้นย่อมไม่ประกอบในอกุศลจิตประเภทอื่น คือ โทสมูลจิตและโมหมูลจิต ได้แก่
โลภเจตสิก ย่อมประกอบกับ โลภมูลจิต ๘ [ทั้งหมด]
ทิฏฐิเจตสิก ย่อมประกอบกับ ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ เท่านั้น
มานเจตสิก ย่อมประกอบกับ ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ เท่านั้น
แต่มานเจตสิกนั้น ย่อมมีอารมณ์ที่เกิดการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นเท่านั้น ถ้าในขณะนั้นจิตไม่มีอารมณ์ที่มีการเปรียบเทียบแล้ว มานเจตสิกนี้ย่อมไม่เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น มานเจตสิกจึงประกอบกับทิฏฐิคตวิปปยุตตจิตเป็นบางครั้งบางคราว เรียกว่า กทาจิ
โทจตุกเจตสิก ๔
โทจตุกเจตสิก หมายถึง กลุ่มเจตสิกที่มีโทสเจตสิกเป็นประธาน มีอยู่ด้วยกัน ๔ ดวง คือ โทสะ, อิสสา, มัจฉริยะ, กุกกุจจะ โทจตุกเจตสิก ๔ ดวงนี้ ย่อมประกอบในโทสมูลจิต ๒ ดวงเท่านั้น ย่อมไม่ประกอบกับอกุศลจิตประเภทอื่นเลย
อิสสาเจตสิก มัจฉริยเจตสิก และกุกกุจจเจตสิกนั้น เป็นเจตสิกที่มีอารมณ์ในการรับรู้โดยเฉพาะของตน ๆ จึงเป็นเจตสิกที่มีสภาพอารมณ์แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น เจตสิกทั้ง ๓ ดวงนี้ จึงประกอบกับโทสมูลจิต ๒ เป็นบางครั้งบางคราว และเวลาประกอบ ย่อมไม่ประกอบพร้อมกัน จึงมีชื่อเรียกว่า นานากทาจิ
ถีทุกเจตสิก
ถีทุกเจตสิก หมายถึง เจตสิก ๒ ดวง ได้แก่ ถีนเจตสิก และมิทธเจตสิก ที่ชื่อว่า ถีทุกะนั้น โดยยกเอาถีนเจตสิกเป็นประธาน เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ย่อมประกอบกับอกุศลสสังขาริกจิต ๕ ดวงเท่านั้น คือ
โลภมูลจิตดวงที่ ๒ โลภมูลจิตดวงที่ ๔
โลภมูลจิตดวงที่ ๖ โลภมูลจิตดวงที่ ๘
โทสมูลจิตดวงที่ ๑
ถีทุกเจตสิก ๒ ดวงนี้ ประกอบกับจิตได้เป็นบางครั้งบางคราว แต่เวลาประกอบกับอกุศลสสังขาริกจิต ย่อมประกอบพร้อมกันทั้ง ๒ ดวงเสมอ แต่ถ้าไม่ประกอบ ย่อมไม่ประกอบทั้ง ๒ ดวง จึงมีชื่อเรียกว่า สหกทาจิ
วิจิกิจฉาเจตสิก
วิจิกิจฉาเจตสิก เป็นเจตสิกที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวต่างหากจากเจตสิกดวงอื่น ๆ ซึ่งมีเพียงดวงเดียว เป็นเจตสิกที่ประกอบกับโมหมูลจิตดวงที่ ๑ คือ วิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต เพียง ๑ ดวงเท่านั้น ย่อมไม่ประกอบกับอกุศลจิตดวงอื่น ๆ เลย