ไปยังหน้า : |
อรูปกรรมฐาน หมายถึง กรรมฐานที่มีสภาพความไม่มีรูปร่างสัณฐานเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ของอรูปฌาน ๔ แต่ละอย่างตามลำดับ เป็นฌานที่เกิดขึ้นหลังจากได้รูปาวจรปัญจมฌานมาแล้ว และเจริญอรูปฌานต่อไปอีก มี ๔ อย่าง คือ
๑. กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ หมายถึง การกำหนดเอาอากาศที่เพิกสภาพของปฏิภาคนิมิตในวงกสิณ ๙ อย่าง [เว้นอากาศกสิณ] ออกไปแล้วเป็นอารมณ์ โดยภาวนาว่า อากาโส อนันโต ๆ แปลว่า อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ๆ ดังนี้เรื่อยไป จนกว่าสภาพของกสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัตินั้นมาปรากฏแทนที่สภาพปฏิภาคนิมิตของกสิณ กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัตินี้มีสภาพปรากฏแก่ใจของพระโยคีบุคคลโดยเป็นความว่างเปล่าไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ ซึ่งเป็นอารมณ์ของอากาสานัญจายตนฌาน
๒. อากาสานัญจายตนนิมิต หมายถึง การนึกหน่วงเอาสภาพของอากาสานัญจายตนฌานจิตที่ตนได้แล้วนั้นมาเป็นอารมณ์ โดยภาวนาว่า วิญญาณัง อนันตัง ๆ แปลว่า วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ๆ เช่นนี้เรื่อยไป จนกว่าสภาพของอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นจะมาปรากฏแทนที่กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ อากาสานัญจายตนนิมิตนี้มีสภาพปรากฏแก่ใจของพระโยคีบุคคลโดยเป็นความรู้สึกที่ซึมซาบเอิบอาบไปทั่วทั้งร่างกายและจิตใจไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิญญาณัญจายตนฌาน
๓. นัตถิภาวบัญญัติ หมายถึง การนึกหน่วงเอาความว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยมาเป็นอารมณ์ โดยภาวนาว่า นัตถิ กิญจิ ๆ แปลว่า น้อยหนึ่งก็ไม่มี นิดหนึ่งก็ไม่มี เช่นนี้เรื่อยไป จนกว่าสภาพของนัตถิภาวบัญญัตินั้นมาปรากฏแทนที่สภาพของอากาสานัญจายตนนิมิต นัตถิภาวบัญญัตินิมิตนี้มีสภาพปรากฏแก่ใจของพระโยคีบุคคลโดยเป็นสภาพที่ไม่มีความรู้สึกที่เป็นอาการซึมซาบเอิบอาบไปทั่วทั้งร่างกายและจิตใจนั้นเหลืออยู่เลย ซึ่งเป็นอารมณ์ของอากิญจัญญายตนฌาน
๔. อากิญจัญญายตนนิมิต การนึกหน่วงเอาสภาพของอากิญจัญญายตนฌานจิตที่ดับไปแล้ว ซึ่งมีสภาพประณีตและละเอียดอ่อนยิ่งนัก จนแทบจะไม่มีความรู้สึกอะไรเลย มาเป็นอารมณ์ โดยภาวนาว่า เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง แปลว่า อากิญจัญญายตนฌานนี้ละเอียดหนอ อากิญจัญญายตนฌานนี้ประณีตหนอ เช่นนี้เรื่อยไป จนจิตนั้นเข้าถึงสภาพที่ละเอียดอ่อนไปตามสภาพของอารมณ์ที่ไปยึดหน่วงนั้นด้วย และอากิญจัญญายตนนิมิตนี้มาปรากฏแทนที่สภาพของนัตถิภาวบัญญัติ จนสภาพจิตเข้าถึงขั้นที่ว่า “จะว่ามีความรู้สึกอยู่ก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีความรู้สึกอยู่เลยก็ไม่เชิง” มีเพียงความรู้สึกภายในลึก ๆ แต่ไม่มีความรู้สึกภายนอกเลย เป็นอารมณ์ของเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เป็นสภาพจิตที่มีกำลังสมาธิหนักแน่นมาก สามารถที่จะเป็นบาทแก่อภิญญาและเป็นฐานในการเข้านิโรธสมาบัติหรือสัญญาเวทยิตนิโรธ [สำหรับพระอนาคามีและพระอรหันต์] ได้
หมายเหตุ... อรูปกรรมฐาน ๔ อย่างนี้ เป็นอารมณ์ของอรูปฌาน ๔ โดยเฉพาะของแต่ละฌาน อนึ่ง บุคคลที่จะเจริญอรูปฌานได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ได้รูปาวจรปัญจมฌานมาแล้วด้วยการเจริญกสิณ ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น หรือพวกอรูปพรหมที่ทำอรูปฌานให้เกิดขึ้นใหม่ในชั้นที่ตนเกิดอยู่ และเลื่อนขึ้นสู่อรูปฌานขั้นสูงขึ้นไปตามลำดับด้วยการกำหนดเปลี่ยนสภาพของอารมณ์ของฌานนั้น ๆ ดังกล่าวแล้ว