| |
เวทนาที่เนื่องด้วยทวาร มี ๖ ประการ   |  

ในปฏิจจสมุปบาททีปนี ตอนที่ว่าด้วยเรื่องผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ท่านจำแนกเวทนาออกเป็น ๖ ประการ ซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยทวาร ๖ คือ

๑. จักขุสัมผัสสชาเวทนา การเสวยอารมณ์ที่เกิดจากการกระทบอารมณ์ทางจักขุทวาร หมายความว่า เมื่อมีอายตนะภายใน คือ จักขุปสาทรูป กับ อายตนะภายนอก คือ รูปารมณ์ ประชุมพร้อมกันแล้ว ผัสสเจตสิกที่ประกอบกับจักขุวิญญาณจิต ย่อมทำหน้าที่ประสานระหว่างจักขุปสาทรูปกับรูปารมณ์ให้กระทบกัน เรียกว่า จักขุสัมผัสสะ พร้อมกับการรับรู้รูปารมณ์นั้นโดยจักขุวิญญาณจิตและเวทนาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณจิตนั้น ย่อมทำหน้าที่เสวยรสชาติแห่งรูปารมณ์ ทั้งที่เป็นอิฏฐรูปารมณ์ คือ รูปที่น่ายินดีน่าปรารถนา หรือ อนิฏฐรูปารมณ์ คือ รูปที่ไม่น่ายินดีไม่น่าปรารถนา โดยความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเวทนา จึงเรียกว่า จักขุสัมผัสสชาเวทนา

๒. โสตสัมผัสสชาเวทะนา การเสวยอารมณ์ที่เกิดจากการกระทบอารมณ์ทางโสตทวาร หมายความว่า เมื่อมีอายตนะภายในคือโสตปสาทรูป กับ อายตนะภายนอกคือสัททารมณ์ ประชุมพร้อมกันแล้ว ผัสสเจตสิกที่ประกอบกับโสตวิญญาณจิต ย่อมทำหน้าที่ประสานระหว่างโสตปสาทรูปกับสัททารมณ์ให้กระทบกัน เรียกว่า โสตสัมผัสสะ พร้อมกับการรับรู้สัททารมณ์โดยโสตวิญญาณจิต และเวทนาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับโสตวิญญาณจิตนั้น ย่อมทำหน้าที่เสวยรสชาติแห่งสัททารมณ์ ทั้งที่เป็นอิฏฐสัททารมณ์ คือ เสียงที่น่ายินดีน่าปรารถนา หรือ อนิฏฐ-สัททารมณ์ คือ เสียงที่ไม่น่ายินดีไม่น่าปรารถนา โดยความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเวทนา เรียกว่า โสตสัมผัสสชาเวทนา

๓. ฆานสัมผัสสชาเวทนา การเสวยอารมณ์ที่เกิดจากการกระทบอารมณ์ทางฆานทวาร หมายความว่า เมื่อมีอายตนะภายในคือฆานปสาทรูป กับ อายตนะภายนอกคือคันธารมณ์ ประชุมพร้อมกันแล้ว ผัสสเจตสิกที่ประกอบกับฆานวิญญาณจิต ย่อมทำหน้าที่ประสานระหว่างฆานปสาทรูปกับคันธารมณ์ให้กระทบกัน เรียกว่า ฆานสัมผัสสะ พร้อมกับการรับรู้คันธารมณ์โดยฆานวิญญาณจิต และเวทนาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับฆานวิญญาณจิตนั้น ย่อมทำหน้าที่เสวยรสชาติแห่งคันธารมณ์ ทั้งที่เป็นอิฏฐคันธารมณ์ คือ กลิ่นที่น่ายินดีน่าปรารถนา หรือ อนิฏฐคันธารมณ์ คือ กลิ่นที่ไม่น่ายินดีไม่น่าปรารถนา โดยความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเวทนา เรียกว่า ฆานสัมผัสสชาเวทนา

๔. ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา การเสวยอารมณ์ที่เกิดจากการกระทบอารมณ์ทางชิวหาทวาร หมายความว่า เมื่อมีอายตนะภายในคือชิวหาปสาทรูป กับ อายตนะภายนอกคือรสารมณ์ ประชุมพร้อมกันแล้ว ผัสสเจตสิกที่ประกอบกับชิวหาวิญญาณจิต ย่อมทำหน้าที่ประสานระหว่างชิวหาปสาทรูปกับรสารมณ์ให้กระทบกัน เรียกว่า ชิวหาสัมผัสสะ พร้อมกับการรับรู้รสารมณ์โดยชิวหาวิญญาณจิต และเวทนาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับชิวหาวิญญาณจิตนั้น ย่อมทำหน้าที่เสวยรสชาติแห่ง รสารมณ์ ทั้งที่เป็นอิฏฐรสารมณ์ คือ รสที่น่ายินดีน่าปรารถนา หรือ อนิฏฐรสารมณ์ คือ รสที่ไม่น่ายินดีไม่น่าปรารถนา โดยความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเวทนา เรียกว่า ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา

๕. กายสัมผัสสชาเวทนา การเสวยอารมณ์ที่เกิดจากการกระทบอารมณ์ทางกายทวาร หมายความว่า เมื่อมีอายตนะภายในคือกายปสาทรูปกับอายตนะภายนอก คือ โผฏฐัพพารมณ์ ประชุมพร้อมกันแล้ว ผัสสเจตสิกที่ประกอบกับกายวิญญาณจิต ย่อมทำหน้าที่ประสานระหว่างกายปสาทรูปกับโผฏฐัพพารมณ์ให้กระทบกัน เรียกว่า กายสัมผัสสะ พร้อมกับการรับรู้โผฏฐัพพารมณ์โดยกายวิญญาณจิต และเวทนาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับกายวิญญาณจิตนั้น ย่อมทำหน้าที่เสวยรสชาติแห่งโผฏฐัพพารมณ์ โดยความเป็นทุกขเวทนา หรือสุขเวทนา หมายความว่า ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอนิฏฐโผฏฐัพพารมณ์ คือ สัมผัสที่ไม่น่าปรารถนา อันเป็นผลของอกุศลกรรม กายวิญญาณจิตที่ทำหน้าที่รับรู้อนิฏฐโผฏฐัพพารมณ์นั้นย่อมเป็นอกุศลวิบากจิต จึงรับรู้โดยความเป็นทุกขเวทนา แต่ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอิฏฐโผฏฐัพพารมณ์ คือ สัมผัสที่น่ายินดีน่าปรารถนา อันเป็นผลของกุศลกรรม กายวิญญาณจิตที่ทำหน้าที่รับรู้อิฏฐโผฏฐัพพารมณ์ย่อมเป็นกุศลวิบากจิต จึงรับรู้โดยความเป็นสุขเวทนา ด้วยเหตุนี้ เวทนาที่เกิดกับกายวิญญาณจิต จึงมี ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา กับ ทุกขเวทนา ดังกล่าวแล้ว แต่ก็เรียกรวมกันว่า กายสัมผัสสชาเวทนา

๖. มโนสัมผัสสชาเวทนา การเสวยอารมณ์ที่เกิดจากการกระทบอารมณ์ทางมโนทวาร หมายความว่า เมื่อมีอายตนะภายในคือภวังคจิต [ทำหน้าที่เป็นมโนทวาร] กับ อายตนะภายนอกคือธัมมารมณ์ ประชุมพร้อมกันแล้ว ผัสสเจตสิกที่ประกอบกับมโนวิญญาณจิต ย่อมทำหน้าที่ประสานระหว่างภวังคจิตกับธัมมารมณ์ให้กระทบกัน เรียกว่า มโนสัมผัสสะ พร้อมกับการรับรู้ธัมมารมณ์โดยมโนวิญญาณจิต และเวทนาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับมโนวิญญาณจิตนั้น ถ้าอารมณ์เป็นอติอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง เวทนาเจตสิกย่อมทำหน้าที่เสวยรสชาติแห่งธัมมารมณ์นั้นโดยความเป็นโสมนัสสเวทนา ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาระดับปานกลาง เวทนาเจตสิกย่อมทำหน้าที่เสวยรสชาติแห่งธัมมารมณ์นั้น โดยความเป็นอุเบกขาเวทนา ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าชอบใจ เวทนาเจตสิกย่อมทำหน้าที่เสวยรสชาติแห่งธัมมารมณ์นั้น โดยความเป็นโทมนัสสเวทนา เพราะฉะนั้น เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกิดพร้อมด้วยมโนวิญญาณจิตดวงใดดวงหนึ่งนั้น เรียกว่า มโนสัมผัสสชาเวทนา

การรับรู้อารมณ์ทางทวารต่าง ๆ เกิดขึ้นเพราะอาศัยการประชุมพร้อมกันแห่งธรรม ๕ ประการ คือ อายตนะภายใน ๑ อายตนะภายนอก ๑ ผัสสะ ๑วิญญาณ ๑ และเวทนา ๑ เมื่อครบเหตุปัจจัยทั้ง ๕ ประการนี้แล้ว การรับรู้อารมณ์ทางทวารนั้น ๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว การรับรู้อารมณ์ทางทวารนั้น ๆ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ โดยไม่มีใครมาบงการหรือบังคับบัญชาให้เป็นไปดังใจปรารถนาได้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมสามารถกำหนดพิจารณารู้ถึงการรับรู้อารมณ์ทางทวารนั้น ๆ ว่า สักแต่ว่า เป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เราไม่เป็นใหญ่ในการรับรู้นั้น เพราะไม่สามารถบังคับบัญชาการรู้รับนั้นให้เป็นไปในอำนาจของตนได้ เพราะฉะนั้น การรับรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ จึงตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เพราะเกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนแปลงไป ทุกขัง เป็นทุกข์ เพราะทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องแตกดับทำลายไป และอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เพราะไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |