ไปยังหน้า : |
๑. จิตตนิสสิตลักขณัง มีการอาศัยจิตเกิดขึ้น เป็นลักษณะ
๒. อวินิพโภครสัง มีการเกิดโดยไม่แยกกันกับจิต เป็นกิจ
๓. เอกาลัมพณปัจจุปปัฏฐานัง มีการรับเอาอารมณ์อย่างเดียวกับจิต เป็นผลปรากฏ
๔. จิตตุปปาทปทัฏฐานัง มีการเกิดขึ้นของจิต เป็นเหตุใกล้
อธิบายความหมาย
ลักษณะพิเศษของเจตสิก ๔ ประการนี้ เป็นความหมายรวมของเจตสิก เรียกว่า วิเสสลักษณะ แปลว่า ลักษณะพิเศษ หรือเอกลักษณ์พิเศษโดยเฉพาะของสภาวธรรม ที่ได้ชื่อว่า เจตสิก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลักขณาทิจตุกะ แปลว่า เอกลักษณ์พิเศษ ๔ ประการ คือ ลักษณะ รส ปัจจุปปัฏฐาน และปัฏฐาน ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกว่าสภาวธรรมที่ได้ชื่อว่า เจตสิกนี้ เป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัตินี้ไปเป็นอย่างอื่นเลย แม้จะเกิดกับบุคคลใดก็ตาม หรือจะเกิดกี่ครั้ง กี่ภพกี่ชาติก็ตาม ย่อมจะทรงสภาวะพิเศษของตนไว้เสมอ คือ
๑. จิตตนิสสิตลักขณัง มีการอาศัยจิตเกิดขึ้นเป็นลักษณะ หมายความว่า เจตสิกธรรมทั้งหลาย แม้จะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปรุงแต่งให้จิตมีสภาพแตกต่างกันออกไปมากมายและสามารถรับอารมณ์ได้หลากหลายเพียงใดก็ตาม แต่เจตสิกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีจิตแสดงอาการจะเกิดขึ้น หรือมีเหตุปัจจัยของจิตดวงนั้น ๆ ปรากฏเกิดขึ้นก่อน แล้วเจตสิกจึงสามารถเกิดขึ้นมาได้ ถ้าจิตดวงนั้นไม่แสดงอาการเกิดขึ้น หรือไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น เจตสิกที่จะประกอบกับจิตดวงนั้น ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ บุคคลบางคน หรือสัตว์บางจำพวก จึงไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิดจิตบางดวง บุคคลนั้น หรือสัตว์จำพวกนั้น จึงไม่มีจิตและเจตสิกเหล่านั้นเกิดขึ้น เช่น อบายสัตว์ ๔ จำพวก ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดมหาวิบากจิตได้ เนื่องจากถูกขอบเขตของวิบากขวางกั้นไว้ เรียกว่า วิปากันตรายะ หรือ วิปากาวรณ์ แปลว่า อันตรายอันเกิดจากวิบากขวางกั้น จึงไม่สามารถรับรู้อารมณ์หรือหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ต่อจากชวนะ ที่เรียกว่า ตทาลัมพนะ ด้วยมหาวิบากจิตได้ สุคติอเหตุกบุคคล ทวิเหตุกบุคคล ไม่สามารถรับรู้อารมณ์หรือหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ด้วยมหาวิบากญาณสัมปยุตตจิต ซึ่งประกอบด้วยปัญญาได้ เพราะขอบเขตจำกัดของวิบาก หรือ พวกทุคติบุคคล [คืออบายสัตว์ ๔] สุคติอเหตุกบุคคล ทวิเหตุกบุคคล ไม่สามารถทำฌานจิตให้เกิดได้ ก็ด้วยถูกขอบเขตของวิบากขวางกั้นไว้ ที่เรียกว่า วิปากันตรายะ เช่นเดียวกัน อนึ่ง บุคคลที่ทำอนันตริยกรรม ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งลงไปแล้ว ถึงแม้จะเป็นติเหตุกบุคคล มีอุปนิสัยในฌาน อภิญญา มรรค ผล มาพร้อมแล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถทำฌานจิต อภิญญาจิต มรรคจิต และผลจิตให้เกิดขึ้นได้เลยตลอดชาตินั้น เนื่องจากถูกอนันตริยกรรมซึ่งเป็นกรรมหนักนั้นขวางกั้นไว้ เรียกว่า กัมมันตรายะ หรือ กัมมาวรณ์ บางคนหมกมุ่นอยู่ในกองกิเลสและถูกกิเลสรุมเร้ามากเกินไป จนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น ย่อมไม่สามารถมีแม้แต่มหากุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นได้ เรียกว่า กิเลสันตรายะ หรือ กิเลสาวรณ์ เพราะเหตุนั้น บุคคลเหล่านี้จึงไม่สามารถมีจิตประเภทนั้น ๆ เกิดขึ้น และเจตสิกที่จะประกอบกับจิตดวงนั้น ๆ โดยเฉพาะย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นกับบุคคลนั้นได้เช่นเดียวกัน จึงเห็นได้ว่า เจตสิกทั้งหลาย แม้จะมีอำนาจปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์ได้หลากหลายและมีสภาพเป็นไปต่าง ๆ กันมากมายก็ตาม แต่เมื่อจิตประเภทนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว เจตสิกย่อมเกิดขึ้นเองโดยลำพังไม่ได้ เปรียบเหมือนบิดามารดากับบุตรธิดา ถึงแม้บุรุษและสตรีทั้ง ๒ จะมีศักยภาพทางสรีระและมีวิบากที่จะทำให้มีบุตรกันได้ก็ตาม แต่ถ้าสัตว์ที่จะเกิดมาเป็นบุตรธิดาของบุคคลนั้นไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิดแล้ว บุรุษและสตรีนั้นย่อมไม่สามารถมีบุตรได้ ในทำนองเดียวกัน แม้สัตว์นั้น จะมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นได้ก็ตาม แต่บุรุษและสตรีนั้น ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะมีบุตรได้ สัตว์นั้น ย่อมเกิดมาเป็นบุตรธิดาของบุรุษและสตรีนั้นไม่ได้ เมื่อเหตุปัจจัยบกพร่องไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายแล้ว ความเป็นบิดามารดาของบุรุษและสตรีนั้นก็ดี ความเป็นบุตรธิดาของสัตว์นั้นก็ดี ย่อมมีไม่ได้เช่นเดียวกัน อีกอุปมาหนึ่ง เปรียบเหมือนอาจารย์กับศิษย์ ถ้าแม้บุคคลจะมีคุณสมบัติในการที่จะเป็นครูหรืออาจารย์ได้ก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังไม่มีผู้เข้ามาศึกษาด้วย ความเป็นครูหรืออาจารย์ก็ยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ หรือมีบุคคลที่พร้อมจะเป็นศิษย์ศึกษาศิลปะวิทยาการ แต่ว่าไม่มีบุคคลที่จะเป็นอาจารย์สั่งสอนศิลปะวิทยาการให้ ความเป็นศิษย์ของบุคคลนั้น ก็ยังไม่สำเร็จบริบูรณ์เช่นเดียวกัน จึงเห็นได้ว่า ความเป็นบิดามารดากับบุตรก็ดี ความเป็นครูอาจารย์กับศิษย์ก็ดี ต้องอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น จะมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ แต่ว่า บิดามารดา และครูอาจารย์นั้น เป็นประธาน คือ ต้องมีคุณสมบัติพร้อมที่จะเป็นได้ก่อน เรียกว่า นิสสยะ แปลว่า เป็นที่อาศัยเกิด ส่วนบุตรธิดาและศิษย์นั้น เป็นผู้อาศัยเกิด เพราะเกิดทีหลัง เรียกว่า นิสสิตะ แต่เมื่อกล่าวโดยสภาพรวมแล้ว ทั้งนิสสยะและนิสสิตะนี้ จะต้องเป็นไปพร้อมกันเสมอ จิตและเจตสิกย่อมเป็นเช่นเดียวกัน จิตเป็นนิสสยะ คือ เป็นที่อาศัยเกิดของเจตสิก ส่วนเจตสิกทั้งหลาย เป็นนิสสิตะ คือ เป็นสภาวธรรมที่ต้องอาศัยจิตเกิดเสมอ
๒. อวินิพโภครสัง มีการเกิดโดยไม่แยกกับจิต เป็นกิจ หมายความว่า เจตสิกธรรมทั้งหลาย ต้องอาศัยจิตเกิดเสมอ จะเกิดขึ้นเองตามลำพังโดยไม่ต้องอาศัยจิตไม่ได้ เพราะฉะนั้น หน้าที่หรือรสของเจตสิก ที่เรียกว่า สัมปัตติรส แปลว่า หน้าที่อันเป็นคุณสมบัติโดยรวมของเจตสิก ก็คือ มีการเกิดขึ้นโดยไม่แยกกับจิต เป็นกิจ เมื่อจิตเกิดขึ้น เจตสิกต้องเกิดขึ้นด้วย เมื่อจิตตั้งอยู่ เจตสิกต้องตั้งอยู่ด้วย เมื่อจิตดับ เจตสิกต้องดับด้วย เมื่อจิตรับอารมณ์อะไร เจตสิกที่ประกอบกับจิต ต้องรับอารมณ์นั้นด้วย เมื่อจิตอาศัยสถานที่ใดเกิด เจตสิกก็ต้องอาศัยสถานที่นั้นเกิดด้วย จึงเห็นได้ว่า คุณสมบัตินี้ เป็นคุณสมบัติโดยรวมของเจตสิกทั้งหลายโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นคุณสมบัติประจำตัวของเจตสิกโดยไม่ต้องมีการจัดแจง ปรุงแต่ง หรือไม่มีการบงการบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่ว่า เป็นไปโดยสภาพธรรมชาติของสภาวธรรม ที่เรียกว่า เจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต นั่นเอง ไม่ว่าโลกจะเกิดขึ้นและแตกสลายไป สัตว์ทั้งหลายจะเกิดและตายไปกี่ภพกี่ชาติก็ตาม เมื่อจิตและเจตสิกเกิดแล้ว ย่อมทรงสภาวะของตนไว้เช่นนี้เสมอ ไม่มีการเปลี่ยงแปลงสภาวะไปเป็นอย่างอื่น และไม่ว่า จิตเจตสิกของมนุษย์ เทวดา มาร พรหม และสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉานก็ตาม หรือจะเป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระมหาสาวก พระปกติสาวก หรือใคร ๆ ก็ตาม ที่มีจิตเจตสิกเกิดอยู่ สภาวะของจิตและเจตสิก ย่อมเป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ เหมือนกันทั้งหมด โดยไม่สามารถแยกจากกันได้
๓. เอกาลัมพณปัจจุปปัฏฐานัง มีการรับเอาอารมณ์อย่างเดียวกับจิต เป็นผลปรากฏ หมายความว่า เจตสิกธรรมทั้งหลาย ย่อมเป็นไปตามสภาพของจิต คือ มีจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน เมื่อสภาพของจิตเกิดขึ้นเพื่อรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามเหตุปัจจัยของจิตแล้ว เจตสิกที่เกิดพร้อมกับจิตและประกอบกับจิตต้องรับอารมณ์อย่างนั้นด้วย จะแยกตัวออกไปรับอารมณ์อย่างอื่น ที่นอกจากจิตรับอยู่ไม่ได้ เช่น จักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้นเพื่อรับรูปารมณ์ เจตสิกที่ประกอบกับจักขุวิญญาณจิตต้องรับรูปารมณ์ด้วย จะไปรับสัททารมณ์หรือคันธารมณ์ เป็นต้นไม่ได้ โสตวิญญาณจิตเกิดขึ้นเพื่อรับสัททารมณ์ เจตสิกที่ประกอบกับโสตวิญญาณจิตต้องรับสัททารมณ์ด้วย จะไปรับรูปารมณ์หรือคันธารมณ์เป็นต้นไม่ได้ ฆานวิญญาณจิตเกิดขึ้นเพื่อรับคันธารมณ์ เจตสิกที่ประกอบกับฆานวิญญาณจิต ต้องรับคันธารมณ์ด้วย จะไปรับรูปารมณ์หรือสัททารมณ์เป็นต้นไม่ได้ ชิวหาวิญญาณจิตเกิดขึ้นเพื่อรับรสารมณ์ เจตสิกที่ประกอบกับชิวหาวิญญาณจิตต้องรับรสารมณ์ด้วย จะไปรับรูปารมณ์หรือสัททารมณ์เป็นต้นไม่ได้ กายวิญญาณจิตเกิดขึ้นเพื่อรับโผฏฐัพพารมณ์ เจตสิกที่ประกอบกับกายวิญญาณจิตต้องรับโผฏฐัพพารมณ์ด้วย จะไปรับรูปารมณ์หรือสัททารมณ์ไม่ได้ มโนธาตุจิตเกิดขึ้นเพื่อรับรู้ปัญจารมณ์ คือ อารมณ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง เจตสิกที่ประกอบกับมโนธาตุจิต ต้องรับปัญจารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามไปด้วย จะไปรับธรรมารมณ์ไม่ได้ และมโนวิญญาณจิตเกิดขึ้นเพื่อรับรู้ธรรมารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เจตสิกที่ประกอบกับมโนวิญญาณจิตนั้นต้องรับธรรมารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่มโนวิญญาณจิตนั้นรับอยู่ จะไปรับอารมณ์อย่างอื่น มีรูปารมณ์ หรือสัททารมณ์ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น สภาพของเจตสิกธรรมทั้งหลาย บัณฑิตผู้มีปัญญาอันละเอียดลึกซึ้ง ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเห็นอาการปรากฏ ที่เป็นเอกลักษณ์โดยรวมของเจตสิกธรรมนั้นได้ว่า เป็นสภาวธรรมที่รับอารมณ์อันเดียวกับจิตอย่างแยกกันไม่ได้เลย
๔. จิตตุปปาทปทัฏฐานัง มีการเกิดขึ้นของจิต เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า เจตสิกธรรมทั้งหลาย ถึงแม้จะมีอำนาจในการปรุงแต่งจิตให้รับรู้อารมณ์และทำให้จิตมีสภาพแตกต่างกันออกไปถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวงก็ตาม แต่ว่า การที่เจตสิกจะเกิดขึ้นได้นั้น ปัจจัยสำคัญประการแรก ที่เป็นเหตุใกล้ที่สุด ก็คือ อาการเกิดขึ้นของจิต หรือมีเหตุปัจจัยของจิตดวงนั้น ๆ ปรากฏขึ้นก่อน ถ้าไม่มีอาการเกิดขึ้นของจิต หรือไม่มีเหตุปัจจัยของจิตดวงนั้น ๆ ปรากฏขึ้นก่อนแล้ว เจตสิกย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น พระอรหันต์ไม่มีเหตุปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว ฉะนั้น อกุศลเจตสิกทั้งหมดจึงไม่สามารถเกิดกับพระอรหันต์ได้อีกเลย หรือบรรดาอสัญญสัตตพรหมทั้งหลาย ไม่มีเหตุปัจจัยใด ๆ ให้จิตเกิดขึ้นเลย ด้วยเหตุนี้ เจตสิกทั้งหลายจึงไม่สามารถเกิดแก่พวกอสัญญสัตตพรหมได้ ตลอดอายุขัยที่เป็นอสัญญสัตตพรหมนั้น ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น การที่เจตสิกทั้งหลาย จะเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีจิตแสดงอาการจะเกิดขึ้นหรือมีเหตุปัจจัยของจิตดวงนั้น ๆ ปรากฏขึ้นก่อนแล้ว เจตสิกที่ประกอบกับจิตดวงนั้น ๆ จึงจะเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ เจตสิกธรรมทั้งหลาย จึงชื่อว่า มีการเกิดขึ้นของจิตเป็นเหตุใกล้ให้เกิด