ไปยังหน้า : |
โทสมูลจิต เป็นจิตที่มีสภาพหยาบกระด้างหรือดุร้าย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บุคคลที่เกิดโทสมูลจิตนั้น เป็นผู้มีจิตใจหยาบกระด้างหรือดุร้ายตามไปด้วย ฉะนั้น โทสมูลจิตนี้ จึงมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกกะ ดังต่อไปนี้
๑. จัณฑิกะลักขะโณ มีความกระด้าง เป็นลักษณะ หมายความว่า โทสมูลจิตนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีสภาพหยาบกระด้าง ไม่อ่อนโยน ทำให้จิตใจของบุคคลนั้นเกิดความหยาบกระด้างขัดเคือง ไม่เหมาะควรแก่การงานที่เป็นกุศลความดี หรือมีสภาพดุร้าย กระทบกระทั่งประทุษร้ายต่ออารมณ์ที่ประสบอยู่ ให้เสื่อมสิ้นสลายไป
๒. นิสสะยาทาหะนะระโส มีการเผาไหม้ที่อยู่ของตนเป็นกิจ หมายความว่า เมื่อโทสะเกิดขึ้นแล้วย่อมเผาไหม้หทยวัตถุรูปอันที่อาศัยเกิดของตนนั้นให้เหี่ยวแห้งเศร้าหมองหรือแตกสลายไปก็มี เช่น คนที่หัวใจวายตายเพราะความโกรธอย่างรุนแรง เป็นต้น ถ้าโทสะนั้นมีกำลังแรงกล้าก็สามารถเผาไหม้หัวใจให้แตกสลายได้ อนึ่ง โทสะนี้มีการทำให้จิตใจของตนและผู้อื่นหม่นไหม้ เป็นกิจ หมายความว่า โทสมูลจิตนี้ มีสภาพที่เศร้าหมองและเร่าร้อน เหมือนกับเปลวไฟที่กำลังลุกไหม้ ทำให้จิตใจของบุคคลนั้น พลอยเศร้าหมอง ขุ่นมัว และเดือดพล่านตามไปด้วย และบุคคลอื่นที่พบเห็นหรือเกี่ยวข้อง ก็พลอยได้รับผลกระทบจากอาการนั้นด้วย จึงเกิดความไม่สบายใจ มีความเศร้าหมอง ขุ่นมัวตามไปด้วย เช่นเดียวกัน
๓. ทูสะนะปัจจุปปัฏฐาโน มีการประทุษร้ายต่ออารมณ์ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สภาพของโทสมูลจิต เมื่อปรากฏขึ้น ย่อมมีสภาพไม่เป็นไปตามสภาพของอารมณ์ ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อสภาพของอารมณ์ ตามสมควรแก่กำลังของโทสมูลจิตนั้น ถ้ามีกำลังมากก็ประทุษร้ายต่ออารมณ์นั้นอย่างรุนแรง หรือทำลายอารมณ์นั้น [ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของก็ตาม] ให้พินาศย่อยยับไป เช่น ทำร้ายคน ทำร้ายสัตว์ หรือ ฆ่าคน ฆ่าสัตว์ ทำลายสิ่งของให้ย่อยยับไป เป็นต้น
๔. อาฆาตะวัตถุปะทัฏฐาโน มีอาฆาตวัตถุเป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า โทสมูลจิตนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีปัจจัยสำคัญคืออาฆาตวัตถุ ได้แก่ เรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดความโกรธ ความไม่พอใจ ความเสียใจ การผูกอาฆาตพยาบาทจองเวร เป็นต้น เมื่อได้กระทบกับเรื่องราวเหล่านี้แล้ว ย่อมทำให้เกิดโทสมูลจิต คือ ความโกรธ ความไม่พอใจ ความเสียใจ ความหงุดหงิดรำคาญใจ หรือประทุษร้ายต่ออารมณ์นั้น ๆ ให้พ้นไป หรือให้พังพินาศไป