| |
ลักษณะพิเศษของอกุศลจิต

อกุศลจิตนี้ มีสภาพที่เป็นโทษและให้ผลเป็นความทุกข์เป็นเอกลักษณ์โดยรวมของอกุศลจิตทั้งปวง ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษโดยเฉพาะ ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะหรือ ลักขณาทิจตุกกะ ดังต่อไปนี้

๑. สาวัชชะวิปากะลักขะณัง มีความเป็นโทษและให้ผลเป็นความทุกข์ เป็นลักษณะ หมายความว่า สภาพของอกุศลจิตทั้งหลาย ถึงแม้จะเป็นที่ชอบใจของกามตัณหาก็ตาม กล่าวคือ บุคคลที่กำลังโลภ กำลังโกรธ กำลังอิจฉาริษยา เป็นต้นอยู่นั้น ถึงแม้จะมีความยินดีพอใจ ต่อสภาพความรู้สึกนั้น โดยเห็นว่า เป็นความสนุก มีรสชาติ เป็นต้น แต่เมื่อว่าโดยสภาวะลักษณะที่แท้จริงของสภาพเหล่านั้นแล้ว เป็นสภาพที่มีโทษ คือ ตัวมันเองก็มีสภาพเศร้าหมองไปจากสภาพเดิมของจิตที่มีสภาพประภัสสร เมื่อเกิดกับบุคคลใด ก็ทำให้บุคคลนั้นเศร้าหมองจากคุณความดี เกิดการประทุษร้ายทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ทั้งต่อตนเองและบุคคลอื่น และยิ่งบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาแล้ว ย่อมเห็นเป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่าขยะแขยงอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าพบอสรพิษร้าย หรือพบของสกปรกเน่าเหม็นอย่างอื่นเสียอีก ย่อมหลีกเลี่ยงให้ห่างไกลอย่างที่สุด และอกุศลจิตนี้ ชื่อว่า ให้ผลเป็นความทุกข์ คือ ให้ผลเป็นอนิฏฐผล ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ โดยสภาพของอารมณ์นั้น

๒. กุสะละปฏิปักขะระสัง มีการเป็นปฏิปักษ์ต่อกุศลธรรมเป็นกิจ หมายความว่า อกุศลจิตนี้ เมื่อเกิดขึ้นและมีกำลังมากขึ้น ย่อมครอบงำ หรือข่มขี่กุศลธรรมให้อ่อนกำลังลงและเสื่อมสิ้นไป และเป็นสภาพที่เข้ากันไม่ได้กับกุศลธรรม เพราะกุศลธรรมมีสภาพไม่มีกิเลสเสียดแทงให้เศร้าหมองเร่าร้อน เป็นสภาพที่ดีงาม เป็นสภาพฉลาด เป็นสภาพไม่มีโทษ และมีสภาพให้ผลเป็นความสุข ซึ่งตรงกันข้ามกับอกุศลธรรม โดยสิ้นเชิง ฉะนั้น กุศลธรรมนั้นจึงเข้ากันไม่ได้กับอกุศลธรรมโดยประการทั้งปวง

๓. กาลุสสิยะปัจจุปปัฏฐานัง มีความขุ่นมัว เป็นผลปรากฏ หมายความว่า อกุศลธรรมทั้งหลาย ถึงแม้จะสร้างความพึงพอใจ สร้างรสชาติให้เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยอกุศลจิตนั้น ๆ อยู่ก็ตาม แต่บุคคลอื่นที่พบเห็น ย่อมมองเห็นว่า บุคคลนั้น มีความเศร้าหมองขุ่นมัว ไม่น่าเข้าใกล้ ไม่น่าไว้วางใจ หรือไม่น่าคบหาสมาคม ทำให้ผู้พบเห็นนั้น มีอาการขุ่นมัวตามไปด้วย [ถ้าบุคคลนั้นขาดโยนิโสมนสิการ] ส่วนบัณฑิตผู้มีปัญญาทั้งหลาย เมื่อพิจารณาเห็นด้วยปัญญาอันแยบคายแล้ว ย่อมเห็นเป็นความเศร้าหมองขุ่นมัว น่ารังเกียจอย่างยิ่ง ทั้งโดยสภาพของอกุศลธรรมเอง และสภาพบุคคลที่แสดงปฏิกิริยาออกมาด้วยอกุศลธรรมนั้นด้วย

๔. อะโยนิโสมะนะสิการะปะทัฏฐานัง มีการไม่ทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายต่ออารมณ์นั้น เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า บุคคลที่ขาดโยนิโสมนสิการ หรือ การคิดพิจารณาวางใจโดยอุบายอันไม่แยบคายต่ออารมณ์ที่ประสบนั้น ๆ ที่เรียกว่า ขาดปัญญารู้เท่าทันต่อสภาพของอารมณ์นั้น ย่อมเป็นช่องทางให้กิเลสเข้าครอบงำได้ง่าย จึงทำให้เกิดความกำหนัดในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ขัดเคืองในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง และหลงในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง เป็นต้นอยู่ร่ำไป เพราะขาดการสำรวมอินทรีย์ทางทวารต่าง ๆ เมื่อกระทบกับอารมณ์นั้น ๆ แล้วย่อมแสดงการตอบสนองที่เป็นอกุศลออกมาได้ง่าย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |