ไปยังหน้า : |
พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะและอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๓๑๖ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของอาหารรูปไว้ดังต่อไปนี้
อาหารรูป หมายถึง กพฬีการาหาร คือ อาหารที่พึงกลืนกินเข้าไปเป็นคำ ๆ มีข้าว น้ำ นม ผลไม้ พืช ผัก เป็นต้น ตัวอาหาร ก็คือ โอชา ที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ เหล่านั้นนั้นเองดังมีวจนัตถะแสดงว่า
“กพฬํ กรียตีติ = กพฬีกาโร” แปลความว่า โภชนะใด อันบุคคลพึงกระทำให้เป็นคำ หรือกระทำให้เป็นของกิน เพราะเหตุนั้น โภชนะนั้น จึงชื่อว่า กพฬีการะ
“อาหรียตีติ = อาหาโร” แปลความว่า โภชนะใด อันบุคคลพึงกลืนกินได้ เพราะเหตุนั้น โภชนะนั้น จึงชื่อว่า อาหาระ
“กพฬีกาโร จ โส อาหาโร จาติ = กพฬีการาหาโร” แปลความว่า โภชนะอันบุคคลพึงกระทำให้เป็นคำนั้นด้วย กลืนกินได้ด้วย เพราะเหตุนั้น โภชนะนั้น จึงชื่อว่า กพฬีการาหาร
กพฬีการาหาร จึงเป็นชื่อของอาหารทั้งหมด แต่ในที่นี้ หมายเอาเฉพาะอาหารรูป เท่านั้น เพราะฉะนั้น กพฬีการาหาร จึงได้แก่ โอชา ที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “อุทยานนฺตรํ รูปํ ชเนตีติ = โอชา” แปลความว่า ธรรมชาติใด ยังรูปให้เกิดขึ้นติดต่อกันพร้อมกับความเกิดขึ้นของตน เพราะเหตุนั้น ธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่า โอชา
บทสรุปของผู้เขียน :
อาหารรูป หมายถึง กพฬีการาหาร คือ อาหารที่พึงกลืนกินเข้าไปเป็นคำ ๆ มีข้าว น้ำ นม ผลไม้ พืช ผัก เป็นต้น ซึ่งตัวอาหารรูป ก็คือ โอชา ที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ อันได้แก่ สารอาหาร นั่นเอง
อาหารรูป เป็นรูปที่ยังรูปต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นติดต่อกันพร้อมกับความเกิดขึ้นของตน หมายความว่า ตัวสารอาหารที่สัตว์บริโภคเข้าไปแล้ว ที่เรียกว่า อัชฌัตตโอชา ก็ดี ตัวสารอาหารที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ ที่เรียกว่า พหิทธโอชา ก็ดี เมื่อปรากฏเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้รูปอื่น ๆ เจริญขึ้นหรือเพิ่มปริมาณมากขึ้นตามปริมาณของอาหารรูปนั้น กล่าวคือ อาหารที่บุคคลกลืนกินเข้าไปและได้รับการย่อยสลายเป็นสารอาหารแล้ว ย่อมซึมซาบไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของบุคคลนั้น ทำให้อวัยวะนั้น ๆ เจริญเติบโตขึ้นและขยายขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ นี้เป็นความหมายของอาหารรูปที่สัตว์กลืนกินเข้าไป ส่วนอาหารรูปที่อยู่ในสิ่งทั้งปวง มีพืชพันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ เป็นต้นนั้น ถ้าสารอาหารมีปริมาณอยู่เป็นจำนวนมาก ย่อมทำให้สิ่งนั้นเพิ่มขนาดและปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย
อาหารรูป เป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร มีทั้งภายใน และภายนอกร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย