| |
อนิยตโยคีเจตสิก   |  

อนิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ไม่แน่นอน หมายความว่า เป็นเจตสิกที่ประกอบกันได้เป็นบางครั้งบางคราว เนื่องด้วยสภาพของจิตบ้าง เนื่องด้วยหน้าที่หลักของเจตสิกดวงนั้น ๆ บ้าง หรือ เนื่องด้วยสภาพของอารมณ์บ้าง อนิยตโยคีเจตสิก มี ๑๑ ดวง คือ มานะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ถีทุกะ ๒ วิรตี ๓ อัปปมัญญา ๒ แบ่งเป็น ๓ จำพวก คือ

๑. กทาจิเจตสิก มี ๑ ดวง คือ มานเจตสิก

๒. สหกทาจิเจตสิก มี ๒ ดวง คือ ถีนเจตสิก ๑ มิทธิเจตสิก ๑

๓. นานากทาจิเจตสิก มี ๘ ดวง คือ อิสสาเจตสิก ๑ มัจฉริยเจตสิก ๑ กุกกุจจเจตสิก ๑ วิรตีเจตสิก ๓ อัปปมัญญาเจตสิก ๒

อธิบาย

อนิยตโยคีเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ไม่แน่นอน แบ่งเป็น ๓ จำพวก คือ

๑. กทาจิเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบได้เป็นบางครั้งบางคราว มี ๑ ดวง คือ มานเจตสิก มานเจตสิกเกิดขึ้นเนื่องด้วยสภาพของอารมณ์ที่ปรากฏหมายความว่า มานเจตสิก มีสภาพของอารมณ์ คือ ความถือตัวถือตน โดยอาการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่น ในฐานะ ๙ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง [ดูมานะ ๙ อย่าง] เมื่อขณะใด ที่บุคคลมีความยึดมั่นในตัวตนแล้ว เกิดการเปรียบเทียบกับบุคคลอื่น ด้วยเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว เมื่อนั้น มานเจตสิก ย่อมเข้าประกอบ แต่ถ้าไม่มีการเปรียบเทียบกับบุคคลอื่นแล้ว มานเจตสิก ย่อมไม่เข้าประกอบ ถึงแม้ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต จะเกิดขึ้นมาก็ตาม เช่น เกิดขึ้นในภาวะที่ยินดีพอใจในภพภูมิ หรือ ในภาวะความเป็นไปของตนเอง [ภวตัณหา] เป็นต้น ย่อมไม่มีมานเจตสิกประกอบร่วมด้วย

๒. สหกทาจิเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบได้เป็นบางครั้งบางคราว แต่ประกอบพร้อมกัน อันเนื่องด้วยสภาพของจิตที่จะเข้าประกอบ และมีหน้าที่ในการกระทำต่างกัน มี ๒ ดวง คือ

๒.๑ ถีนเจตสิก ทำหน้าที่ให้จิตเกิดความท้อถอยจากอารมณ์ที่เป็นกุศล ในขณะที่กุศลบารมีของบุคคลนั้น ยังมีกำลังอยู่ แต่มีเหตุการณ์หรือมีอารมณ์มายั่วยุให้จิตเป็นอกุศลขึ้นมา จึงต้องมีถีนเจตสิกเข้าไปประกอบร่วมด้วย ช่วยทำให้สภาพจิตนั้น มีความท้อถอยจากคุณงามความดีและกลายเป็นอกุศลจิตไป แต่ถ้ากำลังของจิตอ่อนลงไปเอง อันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยบางประการหรือหลายประการมาประชุมพร้อมกัน เช่น ถูกมอมยา หรือร่างกายเหนื่อยล้าเกินไป เป็นต้น ยากที่จะยับยั้งสติสัมปชัญญะไว้ได้ ทำให้กุศลจิตหดหายไปเอง อกุศลจิตย่อมเกิดขึ้นได้โดยสะดวก ไม่ต้องอาศัยถีนเจตสิกเข้าไปประกอบร่วมด้วย

๒.๒ มิทธเจตสิก ทำหน้าที่ให้เจตสิกขันธ์ ๓ ที่เหลือ ซึ่งประกอบร่วมกับตนนั้นเกิดความท้อถอยจากอารมณ์ที่เป็นกุศล ในขณะที่กุศลบารมีของบุคคลนั้น ยังมีกำลังอยู่ แต่มีเหตุการณ์หรือมีอารมณ์มายั่วยุ จึงต้องมีมิทธเจตสิกเข้าไปประกอบร่วมด้วย ช่วยทำให้อกุศลเจตสิกเหล่านี้เกิดได้โดยสะดวก แต่ถ้ากำลังของโสภณเจตสิกอ่อนลงไปเอง อันเนื่องด้วยเหตุปัจจัยบางประการหรือหลายประการมาประชุมพร้อมกัน เช่น ถูกมอมยา หรือร่างกายเหนื่อยล้าเกินไป เป็นต้น ยากที่จะยับยั้งสติสัมปชัญญะไว้ได้ ทำให้กุศลจิตหดหายไปเอง แล้วอกุศลเจตสิกย่อมเข้าประกอบได้โดยสะดวก โดยไม่ต้องอาศัยมิทธเจตสิกเข้าไปประกอบร่วมด้วยเลย

เพราะฉะนั้น เจตสิก ๒ ดวงนี้ จึงประกอบเป็นบางครั้งบางคราว แต่เวลาประกอบ ต้องเข้าประกอบพร้อมกันเสมอ แต่ถ้าจิตของบุคคลนั้นท้อถอยเอง อันเนื่องมาจากถูกบีบคั้นจากปัจจัยอย่างอื่น เช่น สุขภาพร่างกายไม่ดี ทำกุศลแล้วไม่เห็นผลของกุศล มีแต่ผลของอกุศลเกิดขึ้นเสมอ ดังนี้เป็นต้น จิตย่อมท้อถอยจากอารมณ์ที่เป็นกุศลได้เอง โดยไม่ต้องมีถีนะมิทธะเข้าประกอบร่วมด้วย

๓. นานากทาจิเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบได้เป็นบางครั้งบางคราว และไม่ประกอบพร้อมกัน อันเนื่องมาจากอารมณ์ที่รับรู้นั้นมีสภาพแต่กต่างกัน มี ๘ ดวง คือ

๓.๑ อิสสาเจตสิก มีทรัพย์สมบัติ หรือ คุณความดีของบุคคลอื่น เป็นอารมณ์ [เห็นคนอื่นได้ดี ทนอยู่ไม่ได้]

๓.๒ มัจฉริยเจตสิก มีทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของตนเป็นอารมณ์ [ไม่อยากเห็นทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของบุคคลอื่น โดยไม่ต้องการให้คนอื่นได้ดีเท่าตนหรือได้ดีกว่าตน]

๓.๓ กุกกุจจะ มีความไม่ดีที่ได้ทำไปแล้ว หรือ ความดีที่ยังไม่ได้ทำ เป็นอารมณ์ [เดือดเนื้อ ร้อนใจ เมื่อคิดถึงความหลัง ที่ผ่านมา]

๓.๔ สัมมาวาจา มีวจีทุจริต ๔ ที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพ เป็นอารมณ์ ในการงดเว้น [การกล่าววาจาไม่ดีต่าง ๆ โดยทั่วไป ไม่เกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ เช่น ด่าพ่อ ด่าแม่คนอื่น เพื่อความสนุกสนานหรือให้บันดาลโทสะ หรือ การพูดเพ้อเจ้อไร้สาระทั่วไป เป็นต้น]

๓.๕ สัมมากัมมันตะ มีกายทุจริต ๓ ที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพเป็นอารมณ์ในการงดเว้น [การกระทำไม่ดีทางกายต่าง ๆ โดยทั่วไป ไม่เกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ เช่น ทุบตีสัตว์ หรือทำร้ายบุคคลอื่นเล่นเป็นเกมกีฬา หรือ ลักทรัพย์คนอื่นไปทิ้ง เพราะความไม่พอใจ เป็นต้น]

๓.๖ สัมมาอาชีวะ มีกายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔ ที่เกี่ยวกับอาชีพ เป็นอารมณ์ ในการงดเว้น [ทำ หรือ พูดในทางไม่ดี เพื่อเป็นอุบายหาเลี้ยงชีพ เช่น ฆ่าสัตว์เพื่อนำมาเลี้ยงชีพ ลักทรัพย์ผู้อื่นเพื่อนำมาเลี้ยงชีพ พูดปด เพื่อหลอกเอาปัจจัยมาเลี้ยงชีพ เป็นต้น]

๓.๗ กรุณา มี ทุกขิตสัตว์ คือ สัตว์ที่กำลังได้รับความทุกข์ หรือ จะได้รับความทุกข์ในกาลข้างหน้า อันมีเหตุที่สามารถพิจารณาเห็นได้เป็นอารมณ์ แล้วเกิดความสงสาร

๓.๘ มุทิตา มี สุขิตสัตว์ คือ สัตว์ที่กำลังได้รับความสุขอยู่ หรือ จะได้รับความสุขในกาลข้างหน้า อันมีเหตุที่สามารถพิจารณาเห็นได้ เป็นอารมณ์ แล้วเกิดความพลอยชื่นชม ยินดี กับสัตว์หรือบุคคลนั้น

หมายเหตุ...

เจตสิกที่เป็นได้ทั้งนิยตโยคีและอนิยตโยคี ที่เรียกว่า นิยตานิยตโยคีเจตสิก นั้น มี ๓ ดวงคือ วิรตีเจตสิก ๓ มีกฎเกณฑ์ ดังนี้

วิรตีเจตสิก ๓ ในขณะที่ประกอบกับมหากุศลจิต ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งนั้น ประกอบแบบ อนิยตโยคี ประเภท นานากทาจิ คือ ประกอบได้เป็นบางครั้งบางคราว และเข้าประกอบไม่พร้อมกัน แล้วแต่หน้าที่ และสภาพของอารมณ์ ที่ทำการงดเว้น

วิรตีเจตสิก ๓ ขณะที่ประกอบกับโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งนั้น ประกอบแบบ นิยตโยคี ประเภท นิยตเอกโตโยคี คือ ประกอบแน่นอนและพร้อมกันเสมอ เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์ของมรรคมีองค์ ๘ ในการประหาณอนุสัยกิเลส และเสวยพระนิพพานเป็นอารมณ์


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |