| |
ความหมายของปถวีธาตุ   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีแปลรุ.๕๐ ได้แสดงความหมายของปถวีธาตุไว้ดังต่อไปนี้

ปถวี คือ รูปประจักษ์ หมายความว่า ประจักษ์โดยความเป็นที่ตั้งของรูป [อื่น] ซึ่งเกิดร่วมกัน อนึ่ง ปถวี คือ รูปที่มีสภาพใหญ่เกิดขึ้น อีกนัยหนึ่ง ปถวี คือ รูปที่พึงยกย่องโดยประการต่าง ๆ กล่าวคือ ด้วยหมู่คุณนานัปประการว่า รูปนี้เป็นที่ตั้ง เป็นที่ดำรง เป็นฐานพื้นภูมิของรูปอื่น เพราะเป็นที่ตั้งของรูปร่างแห่งรูปทุกอย่าง เป็นต้น

เมื่อสรุปความแล้ว ปถวีมีความหมาย ๓ ประการ คือ

๑. รูปประจักษ์ หมายความว่า รูปที่ปรากฏประจักษ์

๒. รูปที่มีสภาพใหญ่เกิดขึ้น หมายความว่า รูปที่เกิดเป็นรูปใหญ่และหนา

๓. รูปที่พึงยกย่องโดยประการต่าง ๆ หมายความว่า รูปที่บุคคลพึงยกย่องโดยประการต่าง ๆ

ปถวีธาตุ คือ ธาตุดิน นั่นเอง เพราะมีสภาพไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวะ

ในอภิธัมมัตถสังคหฎีกา ชื่อว่า อภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๕๑ ท่านพระฎีกาจารย์ได้แสดงความหมายของปถวีธาตุไว้ดังนี้

[ธาตุ] ชื่อว่า ปถวี เพราะอรรถว่า เป็นที่รองรับ ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ย่อมปรากฏ คือ เข้าไปตั้งอยู่โดยเป็นที่อาศัยของรูปที่เกิดร่วมกัน เหมือนปถวีปกติ [พื้นแผ่นดิน] เป็นที่อาศัยของสรรพสิ่งมีต้นไม้และภูเขา เป็นต้น ฉันนั้น ชื่อว่า ปถวีธาตุ ด้วยอรรถว่า เป็นธาตุ เพราะทรงลักษณะของตนไว้ เป็นต้น เพราะอรรถว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวะ และเพราะเป็นเช่นกับธาตุ อันเป็นส่วนแห่งสรีระและภูเขา เป็นต้น ชื่อว่า ปถวี

คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ เป็นต้นรุ.๕๒ ได้แสดงความหมายของปถวีธาตุไว้ดังต่อไปนี้

ปถวี เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า ธาตุดิน มีลักษณะแข็ง [กกฺขฬลกฺขณา] คือ เมื่อเปรียบเทียบกับมหาภูตรูปที่เหลืออีก ๓ อย่างแล้ว ปถวีธาตุนี้ย่อมมีลักษณะแข็งกว่า ถ้าวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีปถวีธาตุเป็นจำนวนมากเป็นประธานแล้ว ลักษณะแข็งนี้ย่อมปรากฏออกมา เช่น เหล็ก หิน ไม้ เป็นต้น และถ้าวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีปถวีธาตุเป็นจำนวนน้อย ลักษณะแข็งนั้นย่อมปรากฏไม่มาก เมื่อสัมผัสแล้วจะรู้สึกว่าเป็นลักษณะอ่อน หมายความว่า ความแข็งนั้นมีน้อยนั่นเอง จึงทำให้รู้สึกอ่อน เพราะฉะนั้น ธรรมชาติที่มีลักษณะแข็งก็ตาม อ่อนก็ตาม ในเมื่อสัมผัสแล้ว จัดเป็นปถวีธาตุทั้งสิ้น เพราะนอกจากปถวีธาตุแล้ว ธาตุอื่น ๆ ไม่สามารถทำให้ความรู้สึกแข็งหรืออ่อนปรากฏขึ้นแก่การสัมผัสนั้นได้

อนึ่ง ปถวีธาตุนี้เป็นที่อาศัย เป็นที่ตั้งของรูปอื่น ๆ เหมือนหนึ่งพื้นแผ่นดินกับสิ่งต่าง ๆ ที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต หมายความว่า ยกเว้นปถวีธาตุเสียแล้ว รูปร่างสัณฐาน สีสันวรรณะ ตลอดจนความรู้สึกต่าง ๆ อันได้แก่ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ เตโชโผฏฐัพพารมณ์ วาโยโผฏฐัพพารมณ์ เหล่านี้ย่อมปรากฏขึ้นไม่ได้ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “สหชาตรูปานิ ปถนฺติ ปติฏฺหนฺติ เอตฺถาติ ปถวี” แปลความว่า รูปที่เกิดร่วมกันทั้งหลาย ย่อมตั้งอยู่ในธรรมชาตินั้น เพราะเหตุนั้น ธรรมชาติที่เป็นที่ตั้งที่อาศัยของสหชาตรูปเหล่านั้น ชื่อว่า ปถวี

บทสรุปของผู้เขียน :

จากหลักฐานในคัมภีร์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนี้ พอสรุปความหมายของปถวีธาตุได้ดังต่อไปนี้

ปถวีเป็นรูปธรรมหรือรูปธาตุชนิดหนึ่ง เรียกว่า ธาตุดิน ซึ่งมีลักษณะแข็งหรืออ่อน คือ เมื่อเปรียบเทียบกับมหาภูตรูปที่เหลืออีก ๓ อย่างแล้ว ปถวีธาตุนี้ย่อมมีสภาพที่แข็งกว่าธาตุอื่น ๆ ในวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ถ้ามีธาตุดินเป็นองค์ประกอบรวมอยู่เป็นจำนวนมากกว่าธาตุอื่น ๆ แล้ว วัตถุสิ่งของนั้น ๆ ย่อมปรากฏอาการแข็งมาก เช่น ไม้ หิน เหล็ก เป็นต้น แต่ถ้ามีธาตุดินเป็นองค์ประกอบรวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนน้อย ความอ่อนย่อมปรากฏ คือ ความแข็งลดน้อยลงไป เช่น สำลี ยาง ฟองน้ำ เป็นต้น เมื่อสัมผัสถูกต้องแล้วก็จะสึกว่าอ่อน เพราะฉะนั้น ธรรมชาติใดเมื่อสัมผัสถูกต้องแล้ว มีลักษณะอ่อนหรือแข็งก็ตาม ธรรมชาตินั้นจัดเป็นปถวีธาตุทั้งสิ้น ธาตุอื่น ๆ ที่นอกจากปถวีธาตุแล้ว ย่อมไม่สามารถแสดงอาการแข็งหรืออ่อนให้ปรากฏเป็นความรู้สึกขึ้นได้โดยการสัมผัส หมายความว่า อาการแข็งหรืออาการอ่อนนั้นเป็นคุณสมบัติพิเศษเฉพาะของปถวีธาตุเท่านั้น ธาตุจากนอกนั้นย่อมไม่สามารถแสดงอาการแข็งหรืออาการอ่อนให้ปรากฏได้ เพราะธาตุน้ำก็มีลักษณะเอิบอาบซึมซาบไหลหรือเกาะกุมสิ่งต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน ธาตุไฟมีลักษณะร้อนหรือเย็น ธาตุลมมีลักษณะพัดไปมา ทำให้เกิดอาการหย่อนหรือตึง ตามสภาพของตน ๆ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |