| |
ลักษณะของการคบมิตร ๗ ประการ   |  

ลักษณะของการคบมิตร มี ๗ ประการ คือ

๑. อุปสังกมนะ การไปมาหาสู่ หมายถึง การเข้าไปเกี่ยวข้อง การนึกถึง การถามถึง การติดต่อพูดคุย อ่าน หรือฟังประวัติส่วนตัวของบุคคลนั้นอยู่เสมอ

๒. ปยิรุปาสนะ การเข้าไปนั่งใกล้ หมายถึง การเข้าไปทำความคุ้นเคยสนิทสนมโดยวิธีการต่าง ๆ มีการกินร่วม นั่งร่วม นอนร่วม อยู่ร่วม ทำงานร่วม เป็นต้น

๓. สัมปิยะ การจงรัก หมายถึง การสร้างความรักใคร่ในบุคคลนั้นอย่างจริงใจ พยายามปรับตัวให้เข้ากับบุคคลนั้นให้ได้ หรือพยายามทำตัวให้บุคคลนั้นรักใคร่ชอบใจ

๔. ภัตติ ความภักดี หมายถึง การนับถือและซื่อตรงต่อบุคคลที่ตนคบหาสมาคมด้วย การพยายามทำตัวเปิดเผยกับบุคคลนั้น โดยไม่ปิดบังอำพรางในสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับตนเอง พร้อมทั้งมอบความรักความไว้วางให้บุคคลที่ตนคบนั้นอย่างจริงใจ

๕. สันทิฏฐิ เป็นเพื่อนร่วม หมายความว่า ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ กับบุคคลที่ตนคบหาสมาคมนั้นด้วยใจจริง

๖. สัมภัตตะ เป็นเพื่อนกิน หมายถึง การทำตัวเป็นคนสนิทสนมกับบุคคลนั้น ด้วยการร่วมกิน ร่วมนอน ร่วมอยู่ ร่วมงาน เป็นต้น

๗. ทิฏฐานุคติ ดำเนินตามอย่าง หมายความว่า การพยายามทำตามเยี่ยงอย่างบุคคลที่ตนคบ ทั้งกิริยาท่าทาง การแต่งตัว การทำงาน ความนิยมชมชอบ เป็นต้น เรียกว่า การเลียนแบบ หรือ การถือเอาเป็นเยี่ยงย่าง

กิริยาอาการทั้ง ๗ ประการนี้ ชื่อว่า การคบหาสมาคมกับมิตร ถ้าบุคคลใดคบคนไม่ดีเป็นมิตรด้วยอาการเหล่านี้ บุคคลนั้น ชื่อว่า คบปาปมิตร คือ การคบมิตรชั่ว ย่อมนำพาไปสู่สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม แต่ถ้าบุคคลใดคบคนดีเป็นมิตรด้วยอาการเหล่านี้ บุคคลนั้น ชื่อว่า คบกัลยาณมิตร ย่อมนำไปสู่สิ่งที่ดีงาม

การคบมิตรเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิต บุคคลผู้ไม่มีมิตรสหายหรือไม่มีคนคบ ย่อมเป็นอยู่ลำบากหรือโดดเดี่ยวเดียวดาย บุคคลจะดีจะชั่วนั้น ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งจึงอยู่ที่มิตร เรียกว่า ปรโตโฆสะ ถ้าบุคคลใดมีมิตรดี ก็ถือว่า เป็นความโชคดีของชีวิต ส่วนบุคคลใดมีมิตรชั่ว ก็ถือว่า เป็นความโชคร้ายของชีวิต เช่นเดียวกัน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |