| |
๕. อุเบกขาเวทนา   |  

อุเบกขาเวทนา หมายถึง การเสวยอารมณ์ที่เป็นไปในระดับปานกลาง เรียกว่า อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาน่าชอบใจระดับปานกลางทั่วไปที่เกิดขึ้นทางมโนทวาร และในขณะที่เสวยรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น ทั้งหมด ซึ่งไม่สามารถให้เกิดสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาได้ เนื่องจากเหตุปัจจัยที่กระทบกันนั้น เป็นไปโดยอาการเบาบาง ไม่มีอาการรุนแรงที่จะทำให้เกิดสุขหรือทุกข์ได้ จึงเกิดได้เพียงอุเบกขาเวทนาเท่านั้น สรุปความแล้ว อุเบกขาเวทนานี้ ย่อมเกิดขึ้นในขณะที่รับอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ทางมโนทวาร และรับรูปารมณ์ทั้งดีและไม่ดีทางจักขุทวาร รับสัททารมณ์ทั้งดีและไม่ดีทางโสตทวาร รับคันธารมณ์ทั้งดีและไม่ดีทางฆานทวาร และรับรสารมณ์ทั้งดีและไม่ดีทางชิวหาทวาร ในขณะนั้น ย่อมเกิดความรู้สึกที่ไม่ถึงกับสุขและไม่ถึงกับทุกข์ จึงเรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนา นั่นเอง อนึ่ง อุเบกขาเวทนานี้ มีความหมายละเอียดลึกซึ้งกว่าเวทนาทั้ง ๔ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสสเวทนา และโทมนัสสเวทนา ที่กล่าวแล้ว แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ความรู้สึกอันใด ที่ไม่ได้เกิดพร้อมด้วยสุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสสเวทนา และโทมนัสสเวทนาแล้ว หรือไม่สามารถให้เกิดความรู้สึกที่เป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสสเวทนา หรือโทมนัสสเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่งได้ ความรู้สึกนั้นก็เรียกว่า อุเบกขาเวทนา ทั้งหมด เพราะฉะนั้น อุเบกขาเวทนานี้ จึงกล่าวได้ว่า มีอาการเป็นไปในระหว่างเวทนาทั้ง ๔ อย่างข้างต้นที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

คำว่า อุเปกขาเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนา นี้ มาจากบทว่า อุป บทหน้า + อิกฺข ธาตุ + เวทนา

อุป แปลว่า เข้าไปใกล้

อิกฺข ธาตุ แปลว่า การเพ่งดู

เวทนา แปลว่า การเสวยอารมณ์

รวม ๓ บทเข้าด้วยกัน แปลง อิ [ที่ อิกฺข ธาตุ] เป็น เอ จึงเป็น อุเปกขาเวทนา ภาษาไทยเรียกว่า อุเบกขาเวทนา แปลว่า การเสวยอารมณ์โดยการเข้าไปเพ่งดูอยู่ใกล้ ๆ ซึ่งมีหมายความว่า มิได้ใกล้ชิดแนบสนิทกับอารมณ์นั้นเท่ากับเวทนาทั้ง ๔ อย่างข้างต้น และมิได้เมินเฉยหนีห่างโดยไม่ใยดีต่ออารมณ์นั้นเสียทีเดียว จึงเรียกว่า รับรู้ด้วยการเพ่งมองดูอยู่ใกล้ ๆ

ลักขณาทิจตุกะของอุเบกขาเวทนา

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของอุเบกขาเวทนา อันนับเนื่องในเวทนาขันธ์ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. มัชฌัตตะเวทะยิตะลักขะณา มีการเสวยอย่างปานกลางในอารมณ์ เป็นลักษณะ หมายความว่า เอกลักษณ์ประจำตัวของอุเบกขาเวทนานี้ มีการเสวยอารมณ์ที่เป็นแบบปานกลาง คือ ไม่แนบสนิทชิดเชื้อกับอารมณ์มากเกินไปและไม่ได้ทิ้งห่างหรือผลักไสจากอารมณ์นั้นเสียทีเดียว แต่เป็นไปโดยระดับปานกลาง ระหว่างเวทนาทั้ง ๔ [สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสสเวทนา โทมนัสสเวทนา] ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม หรือเป็นอารมณ์อย่างสามัญธรรมดาทั่วไปก็ตาม หรือเป็นอารมณ์พิเศษก็ตาม การรับรู้อารมณ์เหล่านั้น ของอุเบกขาเวทนา ก็มีอาการเป็นไปอย่างปานกลาง คือ มีความไม่ยินดีและไม่ยินร้ายกับอารมณ์นั้น

๒. สัมปะยุตตานัง นาติอุปะพ๎รูหะนะมิลาปะนะระสา มีการรักษาสัมปยุตตธรรม ไม่ให้ฟูขึ้นและไม่ให้เหี่ยวลงจนเกินไป เป็นกิจ หมายความว่า สภาพของอุเบกขาเวทนานี้ มีการทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนเป็นไปในลักษณะปานกลาง คือ ไม่ได้เชิดชูให้เฟื่องฟูมากจนเกินไป และไม่ได้ปล่อยทิ้งให้เหี่ยวเฉา ย่อมประคับประคองสัมปยุตตธรรมให้เป็นไปโดยอาการสม่ำเสมอในระดับปานกลาง เพราะฉะนั้น จิตใจของบุคคลผู้ที่กำลังรับอารมณ์อยู่ด้วยอุเบกขาเวทนา ทั้งที่เป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ทางใจก็ดี หรืออารมณ์ที่ดีและไม่ดีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นก็ดี การเสวยอารมณ์ในขณะนั้น ย่อมตั้งอยู่ในระดับปานกลาง คือ ไม่ถึงกับสุข และไม่ถึงกับทุกข์ หรือไม่มีการล่วงล้ำเข้าไปแนบสนิทกับอารมณ์ จนทำให้เกิดความยินดีหรือความยินร้ายกับอารมณ์นั้น แต่ก็มิได้เมินเฉยทิ้งห่างโดยไม่ใยดีต่ออารมณ์นั้นแต่อย่างใด จึงกล่าวได้เพียงว่า เข้าไปคอยเพ่งมองดูอยู่ใกล้ ๆ เท่านั้น นี้เป็นหน้าที่อันเป็นกิจรสของอุเบกขาเวทนา

๓. สันตะภาวะปัจจุปปัฏฐานา มีความสงบ [สุขุมเป็นไปปานกลาง] เป็นผล หรือ อาการปรากฏ หมายความว่า เมื่อบัณฑิตผู้มีปัญญาอันละเอียดลึกซึ้ง ได้แก่ พระพุทธเจ้า เป็นต้นได้พิจารณาสภาวะของอุเบกขาเวทนานี้โดยถี่ถ้วนแล้ว ย่อมรู้สึกได้ว่า อุเบกขาเวทนานี้ มีอาการเป็นไปโดยสงบ มีความสุขุม ไม่แสดงอาการเฟื่องฟูหรือห่อเหี่ยวออกมา แต่ประการใด และบุคคลที่กำลังเสวยอารมณ์ที่เป็นอุเบกขาเวทนาอยู่ในขณะนั้น บัณฑิตย่อมสังเกตพิจารณาอาการที่แสดงออกมาได้ว่า เป็นผู้ที่มีอาการสงบ สุขุม ไม่มีความเฟื่องฟูตื่นเต้นดีใจ และไม่มีอาการหดหู่ห่อเหี่ยวออกมาแต่ประการใด จึงเรียกว่า เป็นผู้มีอาการวางเฉย แต่ไม่ได้เฉยเมยโดยไม่มีเยื่อใย ซึ่งอาการอย่างนั้น เรียกว่า การไม่ไยดี อันเป็นอาการของโทสะ คือ ความไม่ชอบใจอยู่ลึก ๆ ไม่ใช่อาการของอุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงกำหนดพิจารณาแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างการวางเฉยกับการเมินเฉย

๔. นิปปีติกะจิตตะปะทัฏฐานา มีจิตที่ไม่มีปีติ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า อุเบกขาเวทนานี้มีสภาพที่เป็นปฏิปักษ์ต่อปีติโดยตรง และมีสภาพตรงกันข้ามกับโสมนัสสเวทนาและโทมนัสสเวทนา เพราะจิตที่มีปีติประกอบร่วมด้วยนั้นจะตั้งมั่นอยู่ด้วยอาการเฉย ๆไม่ได้ ย่อมมีอาการเฟื่องฟูไปตามสภาพของปีติ และสภาพของโสมนัสสเวทนาย่อมทำให้จิตเจตสิกปลาบปลื้มยินดีในอารมณ์มากเกินไป ส่วนสภาพของโทมนัสสเวทนานั้น ย่อมทำให้จิตเจตสิกห่อเหี่ยวในอารมณ์มากเกินไป ด้วยเหตุนี้ อุเบกขาเวทนา จึงมีอาการเป็นไปโดยตรงกันข้ามกับเวทนาอื่น ๆ เพราะฉะนั้น จิตที่มีปีติเจตสิกประกอบร่วมด้วย จึงเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาไม่ได้ โดยเฉพาะในระดับอัปปนาจิต คือ จตุตถฌานจิตกับปัญจมฌานจิต สภาพความต่างกันของอุเบกขาเวทนากับโสมนัสสเวทนา พระโยคีบุคคลผู้เป็นฌานลาภี [ผู้ได้ฌาน] ย่อมสามารถพิจารณาเห็นได้ชัดเจนกว่า มีความประณีตมากกว่าโสมนัสสเวทนาและอุเบขาเวทนาในกามาวจรจิต


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |