| |
ความโลภ มี ๒ อย่าง   |  

๑. ธัมมิยโลภะ คือ ความโลภที่ประกอบด้วยธรรม หมายถึง ความยินดีติดใจในอารมณ์อันน่าใคร่น่าปรารถนาโดยชอบธรรม หรือความยินดีพอใจในทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของตนที่ได้มาโดยชอบธรรม หรืออยากได้สมบัติหรือคุณความดีของบุคคลอื่นในทางที่ชอบธรรม ไม่ถึงกับให้ต้องล่วงละเมิดศีลธรรม หรือไม่เป็นเหตุให้ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง เพียงแต่มีความยินดีชอบใจ หรือต้องการได้สิ่งนั้นมาเป็นของตนโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมเท่านั้น ได้แก่ ความโลภของบุคคลที่มีศีลธรรม หรือของพระอริยบุคคลที่ยังละความโลภไม่ได้หมด จึงยังมีความยินดีพอใจในอารมณ์ด้วยอำนาจตัณหาที่ตนเองยังละไม่ได้ทั้งหมด เช่น พระโสดาบันหรือพระสกิทาคามี ที่ยังยินดีพอใจในทรัพย์สมบัติ บุตรภรรยา สามี หรือฐานะความเป็นอยู่ของตน พระอนาคามียังยินดีพอใจในการเกิดในพรหมโลก เป็นต้น

๒. อธัมมิยโลภะ ความโลภที่ไม่ประกอบด้วยธรรม คือ ความยินดีติดใจ อยากได้ในสมบัติ หรือ คุณความดีของผู้อื่นโดยทางที่ไม่ชอบธรรม หมายถึง ความยินดีติดใจในอารมณ์อันน่าใคร่น่าปรารถนาน่าชอบใจ ด้วยความกำหนัดอย่างแรงกล้า อันเป็นเหตุให้ล่วงกรรมบถของทุจริตกรรมทั้งหลาย ทำให้บุคคลผู้ถูกความโลภชนิดนี้ครอบงำแล้วกระทำอกุศลกรรมต่าง ๆ ออกมาทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ได้แก่ ความโลภของปุถุชน โดยเฉพาะพาลปุถุชน คือ ปุถุชนผู้มืดบอดด้วยปัญญา ย่อมไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดี เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เป็นต้น ย่อมเกิดความโลภความยึดติดในสิ่งนั้นแล้วกระทำทุจริตกรรมต่าง ๆ ลงไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |