ไปยังหน้า : |
๑. อกุศลวิปากจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของอกุศลจิต ๑๒ ดวง แต่เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะอกุศลจิต ๑๒ ดวงนั้นเป็นจิตที่มีกำลังแห่งความแนบแน่นในอารมณ์น้อย เนื่องจากอำนาจของอุทธัจจเจตสิกที่เข้าไปประกอบร่วมอยู่ด้วยทุกดวงนั้นเข้าไปบั่นทอนกำลัง ทำให้กำลังของเอกัคคตาเจตสิกที่ประกอบร่วมด้วยนั้น ลดน้อยลงไปและทำให้กำลังของเหตุถูกทำลายไปด้วย ด้วยเหตุนี้ อกุศลจิต ๑๒ ดวงนั้น เมื่อส่งผลเป็นวิบาก จึงไม่ประกอบด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเลย
๒. อเหตุกกุศลวิปากจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของมหากุศลจิต ๘ ดวง แต่ไม่มีเหตุประกอบ เพราะในขณะทำกุศลนั้น บกพร่องด้วยเจตนา ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้ง ๓ อย่าง คือ บุพพเจตนา ก่อนทำ มุญจนเจตนา ขณะทำ อปรเจตนา หลังทำเสร็จแล้ว เมื่อเจตนาอ่อนกำลังลง กำลังของเหตุก็ถูกทำลายไปด้วย ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดเป็นวิบาก จึงไม่ประกอบด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเลย อีกนัยหนึ่ง อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ นั้น เป็นจิตที่เป็นผลพลอยได้จากมหากุศลจิตอีกส่วนหนึ่ง เพราะมหากุศลจิตนั้นนอกจากส่งผลเป็นมหาวิบากโดยตรงแล้ว ก็ยังส่งผลเป็นอเหตุกกุศลวิปากจิตอีก ๘ ดวงด้วย ฉะนั้น เมื่อเป็นผลโดยอ้อม จึงไม่มีเหตุประกอบ
๓. มหาวิปากจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของมหากุศลจิตโดยตรง เพราะเมื่อว่าโดยเวทนา สัมปโยคะและสังขาร แล้วเหมือนกันทุกประการ หมายความว่า มหากุศลจิตที่บริบูรณ์ด้วยเจตนาทั้ง ๓ กาล คือ บุพพเจตนา มุญจนเจตนาและอปรเจตนา ย่อมให้ผลเป็นมหาวิบากดวงต่อดวงโดยตรง เช่น มหากุศลจิตดวงที่ ๑ ก็ให้ผลเป็นมหาวิปากจิตดวงที่ ๑ ดังนี้เป็นต้น ฉะนั้น จึงมีชื่อบาลีและคำแปลเหมือนกัน มีสภาพที่คล้ายกัน แต่หน้าที่การงานของจิตทั้ง ๒ ประเภทนี้ มีความต่างกัน คือ มหากุศลจิตนั้น ทำหน้าที่เป็นชวนกิจ คือ เสพอารมณ์โดยความเป็นกุศล ส่วนมหาวิปากจิตนั้น ทำหน้าที่เป็นปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ ตทาลัมพนกิจ จุติกิจ ตามสภาพของวิบาก
๔. รูปาวจรวิปากจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของรูปาวจรกุศลจิต ซึ่งเกิดขึ้น เพื่อทำหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์และจุติ ของรูปพรหมในรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่เกิดด้วยรูปอย่างเดียว] มี ๕ ดวง เท่ากับรูปาวจรกุศลจิต เพราะรูปาวจรกุศลจิตแต่ละดวง จะให้ผลเป็นรูปาวจรวิปากจิตเพียง ๑ ดวง ตรงกันดวงต่อดวงเท่านั้น คือ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๑ ก็ให้ผลเป็นวิบากดวงที่ ๑ ดังนี้เป็นต้น
๕. อรูปาวจรวิปากจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของอรูปาวจรกุศลจิต กล่าวคือ อรูปาวจรกุศลจิตเป็นเหตุ อรูปาวจรวิปากจิตเป็นผล ให้ได้เสวยสมบัติความเป็นอรูปพรหม ในอรูปภูมิ ๔ ตามฌานที่ตนเองได้ ซึ่งให้ผลเป็นปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ ในอรูปภูมิชั้นนั้น ๆ มี ๔ ดวง คือ อากาสานัญจายตนวิปากจิต ที่เป็นผลของอากาสานัญจายตนกุศลจิต ๑ วิญญาณัญจายตนวิปากจิต ที่เป็นผลของวิญญาณัญจา ยตนกุศลจิต ๑ อากิญจัญญายตนวิปากจิต ที่เป็นผลของอากิญจัญญายตนกุศลจิต ๑ เนวสัญญานาสัญญายตนวิปากจิต ที่เป็นผลของเนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต ๑
๖. โลกุตตรวิปากจิต หรือ ผลจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของโลกุตตรกุศลจิตหรือมรรคจิต ซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันกับมรรคจิต เมื่อมรรคจิตดับลงแล้ว ผลจิตก็เกิดขึ้นทันที โดยไม่มีจิตดวงอื่นมาเกิดคั่นระหว่างเลยในมัคควิถีนั้น ฉะนั้น ผลจิตนี้ จึงเรียกว่า อกาลิกธรรม หรือ อกาลิโก แปลว่า เป็นผลธรรมที่ไม่ต้องรอกาลเวลาและทำให้บุคคลสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นนั้น ๆ อย่างสมบูรณ์ หรือเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอริยบุคคลนั้น ๆ เข้าผลสมาบัติ ในผลที่ตนเองได้ถึงแล้วในปัจจุบันนั้น