| |
ลักษณะของผู้หนักในวิตกจริต ๗ ประการ   |  

ลักษณะของบุคคลผู้มีวิตกจริต คือ ผู้มีความคิดพล่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ จนกลายเป็นบุคคลผู้มีจิตขาดความสงบ และกายวาจาก็ขาดความสำรวมระวัง ขาดความสุขุมรอบคอบ มักพล่านไปตามความคิด จนบางคนยับยั้งใจไม่อยู่ ถึงความเสียสติไปก็มี ซึ่งมีอาการเป็นไปดังต่อไปนี้

๑. ภัสสะพะหุละตา เป็นคนพูดมาก หมายความว่า เมื่อจิตของบุคคล ถูกอกุศลวิตกเข้าครอบงำอยู่เสมอ ย่อมทำให้ขาดความสุขุมรอบคอบ ขาดความยั้งคิด มักพูดพล่านไปในเรื่องราวต่าง ๆ ตามความคิดของตนเอง โดยไม่ยั้งคิดพิจารณาว่า ควรพูด หรือไม่ควรพูดอย่างไร หรือคำพูดนั้นจะเหมาะสมกับกาลเวลา สถานที่ สภาพแวดล้อม สภาพบุคคล สภาพสังคม หรือไม่ จนทำให้เป็นที่เบื่อหน่าย รังเกียจ หรือหมดความเชื่อถือในถ้อยคำของบุคคลผู้พบเห็นไป

๒. คะณารามะตา ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ หมายความว่า เมื่อจิตของบุคคล ถูกอกุศลวิตกเข้าครอบงำอยู่เสมอ ย่อมทำให้ขาดความสงบภายใน มักคิดงุ่นง่านพล่านไปในเรื่องราวต่าง ๆ จนไม่เป็นอันคิดทำสิ่งที่สร้างสรรค์ประโยชน์ อยู่คนเดียวไม่เป็นสุข ทำให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญ คิดฟุ้งซ่านไปเรื่อยเปื่อย จึงต้องไปคลุกคลีกับบุคคลอื่น ๆ อยู่เสมอ เมื่อไปคลุกคลีกับบัณฑิต ก็ไม่สามารถที่จะมัดใจเขาไว้ได้ เนื่องจากพฤติกรรมและวาจาที่แสดงออกมานั้น ไม่น่าไว้วางใจ หรือเอาเป็นสาระแก่นสารไม่ได้ บัณฑิตย่อมหลีกห่าง จึงต้องไปคบกับพวกคนพาลที่มีนิสัยสันดานคล้ายกัน ทำให้เกิดการคลุกคลีในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือคบคิดกันทำสิ่งที่เป็นทุจริตบาปธรรมทั้งหลายขึ้นมา และสั่งสมอกุศลวิตกต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น และพอกพูนยิ่งขึ้นไปอีก

๓. กุสะลานุโยเค อะระติ ไม่ยินดีในการประกอบกุศล หมายความว่า เมื่อจิตของบุคคล ถูกอกุศลวิตกเข้าครอบงำอยู่เสมอ ย่อมทำให้ขาดความสุขุมรอบคอบ ขาดความสงบเยือกเย็น ขาดความยั้งคิด มักคิดพล่านไปในเรื่องราวต่าง ๆ ตามความคิดของตนเอง ปล่อยวันเวลาให้ล่วงเลยไปโดยปราศจากประโยชน์ หรือขวนขวายกระทำในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ไม่เป็นสาระแก่นสาร จนกลายเป็นคนมืดบอดทางปัญญา มองเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และมองเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ จึงขวนขวายแสวงหาแต่สิ่งที่ไม่เป็นสาระ ไม่สนใจในการกระทำสิ่งที่เป็นสาระ ไม่ยินดีในการประกอบกุศลกรรมต่าง ๆ เพราะคิดว่า ไม่เป็นสาระ หรือต้องการที่จะทำ แต่ใจไม่พร้อมให้ทำ เช่น จะเรียนธรรมะ ใจก็คิดพล่านไปในเรื่องต่าง ๆ มีเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ เป็นต้น หรือต้องการจะเจริญภาวนา จิตก็ฟุ้งซ่านไปต่าง ๆ นานา จนจับอารมณ์ไม่อยู่ ผลสุดท้าย กุศลความดีที่เคยทำไว้ก็หมดไป กุศลความดีใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น กลายเป็นคนตาบอดหมดบุญไป

๔. อะนะวัฏฐิกิจจะตา มีกิจไม่มั่นคง หมายความว่า เป็นคนจับจด ขาดความมั่นคงทางจิตใจ ทำอะไรไม่ตลอด การงานไม่สำเร็จสักอย่างเดียว หรือปล่อยให้การงานคั่งค้างอากูล ไม่มีผลดีเกิดขึ้น คิดวางแผนโครงการจะทำสิ่งนี้ แต่พอเวลาผ่านไปครู่เดียว ก็เลิกราความคิดนั้นเสียแล้ว หรือเริ่มลงมือทำไปได้หน่อยหนึ่ง ก็เบื่อหน่ายเลิกราไป ดังนี้เป็นต้น ทำให้เป็นผู้ไม่มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ขาดความมั่นคงทางด้านฐานะ อาชีพ และเศรษฐกิจ จึงกลายเป็นคนเฉื่อยชาอืดอาด ท้อแท้เบื่อหน่าย จับจด หนักไม่เอา เบาไม่สู้ มีชีวิตอยู่เพื่อหายใจเล่นไปวัน ๆ เท่านั้นเอง

๕. รัตติธูมายะนา กลางคืนลุกเป็นควัน หมายความว่า เมื่อจิตของบุคคล ถูกอกุศลวิตกเข้าครอบงำอยู่เสมอ ย่อมทำให้ขาดความสุขุมรอบคอบ ขาดความสงบเยือกเย็น ขาดความยั้งคิด มักคิดพล่านไปในเรื่องราวต่าง ๆ จนไม่เป็นอันทำกิจการงานต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ตนเองและครอบครัว หรือสังคมรอบข้าง กลายเป็นคนไร้คุณค่าในสายตาของตนเองและของบุคคลรอบข้าง เมื่อไม่สามารถทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ในความเป็นจริง ก็คิดสร้างวิมานในอากาศวาดภาพตนเองเป็นวีระบุรุษ หรือวีระสตรี ที่มีความสำเร็จในสิ่งที่หวัง แต่เมื่อคิดไปแล้ว พอกลับคืนสติรู้สึกตัว ก็เห็นแต่ความว่างเปล่า ไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย มีแต่เสียเวลาเสียโอกาสไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่เมื่อไม่สามารถหยุดยั้งความคิดที่ไหลทะลักเข้ามาสู่จิตใจดุจกระแสน้ำไว้ได้ และในความเป็นจริงของชีวิตนั้น มีแต่ความว่างเปล่า ไม่มีสารประโยชน์อะไรเกิดขึ้นมาเลย ย่อมเกิดความห่อเหี่ยวจิตใจ เมื่อต้องการจะหลบหลีกภาวะความห่อเหี่ยวของจิตใจเช่นนั้น ก็คิดสร้างวิมานขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นอยู่เช่นนี้เรื่อยไป ตราบใดที่ยังแก้ไขไม่ได้ บุคคลเช่นนี้ เมื่อตกกลางคืน ซึ่งควรจะพักผ่อนนอนหลับ ยิ่งเวลาดึกดื่นเงียบสงัด ความคิดก็ยิ่งไหลทะลักออกมาอย่างล้นหล้ามจนคล้ายกับควันแห่งความคิดฟุ้งโขมงเต็มไปทั่วห้องนอน ทำให้นอนไม่หลับ

๖. ทิวาปัชชะละตา กลางวันลุกเป็นเปลว หมายความว่า ในภาวะเช่นเดียวกันนั้น เมื่อบุคคลนั้นไม่สามารถนอนหลับสนิทได้ หรือเซื่องซึมหลับไปในเวลาใกล้รุ่ง เพราะความอ่อนเพลีย เมื่อตื่นมาก็งัวเงีย จับจด ไม่เป็นอันคิดสร้างสรรค์สิ่งใด ๆ ให้เกิดประโยชน์ขึ้น แม้จะทำกิจส่วนตัว มีล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ ซักเสื้อผ้า เป็นต้น ก็จับจด ปล่อยให้คั่งค้างอากูล ทำให้ร่างกายผิวพรรณ ตลอดถึงเสื้อผ้าอาภรณ์เศร้าหมอง ที่อยู่ที่อาศัยก็สกปรกรกรุงรัง กิจการงานต่าง ๆ ก็ไม่มีความริเริ่มที่จะลงมือทำ กลายเป็นคนพลัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อยไป นั่งคิดนอนฝันสร้างวิมานในอากาศอีกต่อไป จนกลายเป็นเปลวไฟแห่งความคิดลุกโพลงขึ้นอยู่ตลอดทั้งวันอีก

๗. หุราหุรัง ธาวะนา คิดพล่านไปต่าง ๆ นานา หมายความว่า เมื่อจิตของบุคคล ถูกกระแสแห่งความคิดไหลทะลักเข้ามาท่วมทับครอบงำอยู่เสมอ ย่อมทำให้หยุดยั้งความคิดไม่อยู่ จึงมักคิดพล่านไปในเรื่องราวต่าง ๆ นานา ไม่เป็นสาระแก่นสาร ไม่มีเป้าหมาย เมื่อคิดสร้างความฝันในอนาคตไปถึงจุดตีบตันแล้ว ก็คิดสร้างฝันเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งมีแต่ความว่างเปล่าปราศจากประโยชน์นั้น ให้เหมือนกับว่า พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ โดยคิดสร้างตนเองให้เป็นพระเอกหรือนางเอกในบทละครชีวิต ที่สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง เป็นต้น จึงทำให้ความคิดพล่านไปในเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งอดีตและอนาคต จนจำไม่ได้ว่าคิดเรื่องอะไรไปบ้าง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |