| |
ลักขณาทิจตุกะของอหิริกเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาพของอหิริกเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. กายะทุจจะริตาทีนัง อะชิคุจฉะนะลักขะณัง มีการไม่เกลียดต่อกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ เหมือนดังสุกรที่ไม่รังเกียจต่อมูตรและคูถ ฉันนั้น หมายความว่า อหิริกเจตสิกมีสภาวะที่ขาดความละอาย จึงไม่รังเกียจต่อบาปทั้งปวง เมื่อเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นกล้าที่จะทำความชั่วได้โดยไม่ละอายต่อบาปและไม่คำนึงถึงสถานภาพของตนเอง อันควรให้เกิดความละอายแต่ประการใด อนึ่ง ความละอายที่เคยมีอยู่ ย่อมเสื่อมสิ้นหมดไป เมื่อถูกอหิริกะเข้าครอบงำ ด้วยเหตุนี้ สภาวะของอหิริกเจตสิกนี้จึงเปรียบเหมือนสุกรบ้านที่ไม่รังเกียจคูถ คือ ปกติของสุกรบ้าน ที่ถูกเลี้ยงอยู่ในคอกนั้น ย่อมคลุกอยู่ในมูตรและคูถของตนเอง ตลอดถึงสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่เกิดจากตนเองและจากอาหารที่ตนบริโภคเหลือ เมื่อคลุกอยู่จนเคยชินแล้ว สุกรนั้นจึงไม่มีความรังเกียจต่อสิ่งสกปรกเหล่านั้นแต่ประการใด

๒. ทุจจะริตะกะระณะระสัง มีการกระทำทุจริต เป็นกิจ หมายความว่าอหิริกเจตสิกนี้ย่อมมีสภาพที่ไม่ละอายต่อการกระทำทุจริตใด ๆ ด้วยเหตุนี้ บุคคลที่ถูกอหิริกะเข้าครอบงำ จึงกระทำทุจริตได้โดยไม่ละอาย แม้ในขณะกระทำทุจริตอยู่ ย่อมไม่เกิดความละอายใจแม้แต่น้อย จึงทำให้บุคคลนั้นกระทำทุจริตต่าง ๆ ได้จนสำเร็จเสร็จสิ้นได้

๓. ปาปาสังโกจะนะปัจจุปปัฏฐานัง มีการไม่ย่อท้อต่อทุจริต เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า บุคคลที่ไม่มีความละอายต่อบาปนั้น ย่อมกระทำทุจริตอยู่เนือง ๆ จนติดเป็นนิสัย ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง หรือแม้จะไม่กล้าทำบาปต่อหน้าบุคคลอื่น แต่ใจยังยินดีในการกระทำบาป ลับสายตาบุคคลอื่นเมื่อไรย่อมกระทำบาปได้เสมอ ดังนี้ ก็ยังไม่ชื่อว่า มีความละอายต่อบาป เพียงแต่กลัวคนอื่นจะตำหนิหรือกลัวถูกลงโทษอันเกิดขึ้นด้วยอำนาจโทสะเท่านั้น

๔. อัตตะอะคาระวะปะทัฏฐานัง มีการไม่เคารพตนเอง เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า บุคคลที่ไม่มีความละอาย กล้ากระทำความผิดหรือประกอบทุจริตกรรมต่าง ๆ เพราะเหตุที่บุคคลนั้นไม่ตระหนักในคุณสมบัติของตนอันสมควรจะให้เกิดความละอาย ได้แก่ ไม่คำนึงถึง วัย ชาติกำเนิด ความคงแก่เรียน ความแกล้วกล้า เป็นต้น ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นผู้ที่ไม่รักเกียรติศักดิ์ศรีของตน จึงทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจตนเองว่าควรหรือไม่ควรประการใด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |