ไปยังหน้า : |
โลกุตตรจิต หมายถึง จิตที่มีอารมณ์เหนือโลกหรือเหนือสภาวธรรมที่มีอยู่ในโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก หรือเป็นจิตที่มีความสามารถรับอารมณ์พิเศษที่เหนือโลก ได้แก่ พระนิพพาน โลกุตตรจิตโดยย่อ มี ๘ คือ มรรคจิต ๔ ผลจิต ๔ เมื่อว่าโดยพิสดารมี ๔๐ นับตามฌานที่ใช้เป็นบาทในการเจริญวิปัสสนาจนมรรคจิตนั้นเกิดขึ้น คือ มรรคจิต ๒๐ ผลจิต ๒๐ ดังที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์เถระเจ้าได้แสดงคาถาสังคหะที่ ๑๐ และ ๑๑ ไว้ดังต่อไปนี้
(๑๐) จะตุมัคคัปปะเภเทนะ | จะตุธา กุสะลัง ตะถา | |
ปากัง ตัสสะ ผะลัตตาติ | อัฎฐะธานุตตะรัง มะตัง ฯ | |
(๑๑) ฌานังคะโยคะเภเทนะ | กะเต๎วเกกันตุ ปัญจะธา | |
วุจจะตานุตตะรัง จิตตัง | จัตตาฬีสะวิธันติ จะ ฯ |
แปลความว่า
๑. นักศึกษาทั้งหลายพึงทราบโลกุตตรจิตโดยย่อว่ามี ๘ คือ กุศลจิตว่าโดยประเภทแห่งมรรคมี ๔ วิปากจิตก็มี ๔ เพราะเป็นผลของมรรคทั้ง ๔
๒.โลกุตตรจิต ๘ เมื่อแสดงโดยพิสดารแล้ว มีถึง ๔๐ นั้น เพราะเมื่อว่าโดยประเภทแห่งการประกอบขององค์ฌานแล้ว โลกุตตรจิตดวงหนึ่ง ๆ ย่อมมี ๕ ฉะนั้น โลกุตตรจิต ๘ จึงเป็น ๔๐ ดวง
อธิบายความว่า
คาถานี้ เป็นการแสดงการนับโลกุตตรจิตโดยย่อและโดยพิสดาร คือ การที่นับโลกุตตรจิตโดยย่อเป็น ๘ ดวงนั้น เพราะนับโดยการเกิดขึ้นของมรรคและผลแบบธรรมดาของสุกขวิปัสสกบุคคล โดยไม่มีองค์ฌานเข้ามาเป็นตัวจำแนก เรียกว่า นับโดยองค์มรรค จึงได้ ๘ ดวง แต่ที่นับโดยพิสดารได้ ๔๐ ดวงนั้น เพราะเป็นมรรคจิตผลจิตที่มีองค์ฌานเข้ามาเป็นตัวจำแนก คือ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌานของผู้ที่เป็นฌานลาภีบุคคลซึ่งใช้ฌานนั้น ๆ เป็นบาทแล้วเจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุมรรคผล จึงเรียกมรรคผลนั้น ๆ ตามฌานที่ใช้เป็นบาทนั่นเอง เช่น ปฐมฌานโสดาปัตติมรรค ปฐมฌานโสดาปัตติผล เป็นต้น ฉะนั้น มรรคจิตผลจิตดวงหนึ่ง ๆ จึงจำแนกไปตามอำนาจแห่งฌานจิต ๕ มีปฐมฌาน เป็นต้น จึงเป็นโลกุตตรจิตโดยพิสดาร ๔๐ ดวง เรียกว่า นับโดยองค์ฌาน ได้แก่ ปฐมฌานจิต ๘ ทุติยฌานจิต ๘ ตติยฌานจิต ๘ จตุตถฌานจิต ๘ และปัญจมฌานจิต ๘ รวมเป็น ๔๐ ดวง