ไปยังหน้า : |
กามาวจรโสภณจิต หมายถึง จิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในกามภูมิ คือ ภูมิอันเป็นแดนเกิดแห่งกิเลสกามและวัตถุกามโดยมาก แต่เป็นจิตที่ดีงาม เพราะประกอบด้วยโสภณเจตสิก ซึ่งปรุงแต่งจิตให้ประพฤติเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลและความสุข โดยปราศจากโทษทุกข์ภัยพิบัติทั้งปวง กามาวจรโสภณจิต นี้ จำแนกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. มหากุศลจิต หมายถึง จิตที่ประกอบด้วยเจตนาที่ดีงาม เป็นจิตที่ไม่มีโทษและให้ผลเป็นความสุข ทั้งยังสามารถให้ผลเกิดขึ้นได้มากกว่าตน และเป็นกุศลที่เป็นบาทเบื้องต้นแห่งมรรค ผล ฌาน อภิญญา อีกด้วย หมายความว่า มหากุศลจิตนี้เป็นพื้นฐานของความดีงามทุกอย่าง ทั้งความดีในระดับเบื้องต้น คือ ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น และความดีในระดับปานกลาง คือ ฌาน อภิญญา จนถึงความดีในระดับสูงสุด คือ มรรค ผล นิพพาน อนึ่ง ฌานกุศล และโลกุตตรกุศล จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมีมหากุศลจิตเกิดขึ้นเป็นบาทฐานเสมอ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การฝึกฝนเจริญสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน ตั้งแต่บริกรรมภาวนา จนถึงอุปจารภาวนานั้น ชวนจิตที่เป็นมหากุศลจิต ย่อมเกิดขึ้นสืบเนื่องกันไป และสั่งสมเป็นพลวะปัจจัยจนมีกำลังมากขึ้นโดยลำดับจนถึงอัปปนาภาวนาในอัปปนาวิถีแล้วจึงจะเปลี่ยนจากมหากุศลจิตมาเป็นโลกุตตรกุศลจิตหรือฌานกุศลจิต กล่าวคือ ในฝ่ายสมถกรรมฐานนั้น สภาพของกุศลจิตจะเปลี่ยนไปเป็นฌานกุศลจิตหรืออภิญญากุศลจิต ในฝ่ายวิปัสสนาภาวนานั้น สภาพของกุศลจิตจะเปลี่ยนไปเป็นโลกุตตรกุศลจิตหรือมรรคจิต อนึ่ง แม้ในขณะแห่งอัปปนาวิถี มีฌานวิถี มรรควิถี อภิญญาวิถี ของ ติเหตุกปุถุชนหรือพระเสกขบุคคล ๓ ต้องมีมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตเกิดขึ้นก่อน โดยทำหน้าที่อุปจาร อนุโลม และโคตรภู หรือโวทาน ต่อจากนั้น ฌานกุศลจิต มรรคจิต หรือ อภิญญากุศลจิต เป็นต้น จึงจะเกิดขึ้นต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้ มหากุศลจิต จึงได้ชื่อว่า เป็นบาทเบื้องต้นแห่งมรรค ผล ฌาน อภิญญา ดังกล่าวแล้ว
๒. มหาวิปากจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของมหากุศลจิตโดยตรง เพราะเมื่อว่าโดยเวทนา สัมปโยคะและสังขาร แล้วเหมือนกันทุกประการ หมายความว่า มหากุศลจิตที่บริบูรณ์ด้วยเจตนาทั้ง ๓ กาล คือ บุพพเจตนา มุญจนเจตนาและอปรเจตนา ย่อมให้ผลเป็นมหาวิบากดวงต่อดวงโดยตรง เช่น มหากุศลจิตดวงที่ ๑ ย่อมให้ผลเป็นมหาวิปากจิตดวงที่ ๑ ดังนี้เป็นต้น ฉะนั้น จึงมีชื่อบาลีและคำแปลเหมือนกัน มีสภาพที่คล้ายกัน แต่หน้าที่การงานของจิตทั้ง ๒ ประเภทนี้ มีความต่างกัน คือ มหากุศลจิตนั้น ทำหน้าที่เป็นชวนกิจ คือ เสพอารมณ์โดยความเป็นกุศล ส่วนมหาวิปากจิตนั้น ทำหน้าที่เป็นปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ ตทาลัมพนกิจ จุติกิจ ตามสภาพของวิบาก
๓. มหากิริยาจิต หมายถึง จิตที่เป็นมหากุศลนั่นแหละ แต่เกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์ หมายความว่า มหากิริยาจิตนี้ ได้แก่ มหากุศลจิตนั่นเอง เพราะเมื่อว่าโดยชื่อและสภาพแล้ว เหมือนมหากุศลจิตทุกประการ แต่เป็นจิตของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้หมดจดจากมลทินคือกิเลสแล้ว ฉะนั้น การทำ การพูด การคิด ของท่านเหล่านั้น จึงไม่เป็นเหตุที่จะส่งผลเป็นวิบากให้เกิดในภพใหม่ต่อไป แต่เป็นไปเพื่อ กระทำหน้าที่นั้น ๆ เท่านั้น ไม่มีผลที่จะเกิดจากการกระทำนั้น ๆ แต่อย่างใด เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว จิตประเภทนี้ ถ้าเกิดกับบุคคลที่ยังมีกิเลสอยู่ เรียกว่า มหากุศลจิต แต่ถ้าเกิดกับพระอรหันต์ ซึ่งหมดกิเลสแล้ว เรียกว่า มหากิริยาจิต
แต่เมื่อว่าโดยสภาพของบุคคลแล้ว พระอรหันต์กับบุคคลผู้มีกิเลสนั้น ย่อมมีความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะพระอรหันต์เป็นผู้หมดจดจากกิเลส พ้นจากอำนาจแห่งอวิชชาโดยสิ้นเชิงแล้ว ฉะนั้น การทำ การพูด การคิด ย่อมพ้นจากมลทินโทษทั้งปวง ส่วนบุคคลที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ถึงจะทำ จะพูด จะคิดที่เป็นไปในทางที่เป็นกุศลก็ตาม แต่ยังอยู่ภายใต้อำนาจของอวิชชาอยู่ จึงไม่หมดจดบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิงเหมือนกับพระอรหันต์ ด้วยเหตุนี้ สภาพจิตที่เป็นมหากุศลจิตกับมหากิริยาจิต ถึงจะมีชื่อและความหมายเหมือนกัน แต่สภาพที่เกิดขึ้นย่อมมีความแตกต่างกันอยู่นั่นเอง
สรุปความแล้ว กามาวจรโสภณจิตนั้น มีจำนวน ๒๔ ดวง ดังที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์เถระเจ้าได้แสดงคาถาสังคหะที่ ๗ ไว้ดังต่อไปนี้
(๗) เวทะนาญาณะสังขาระ - | เภเทนะ จะตุวีสะติ | |
สาเหตุกามาวะจะระ - | ปุญฺญาปุญญานิ วีสะติ ฯ |
แปลความว่า
จิต ๒๔ ดวง เมื่อว่าโดยประเภทแห่งเวทนา ญาณและสังขารแล้ว เรียกว่า สเหตุกกามาวจรกุศลจิต สเหตุกกามาวจรวิปากจิต สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต
อธิบายความว่า
คาถานี้ พระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงเหตุปัจจัยที่ทำให้กามาวจรโสภณจิตเหล่านี้เกิดขึ้น คือ เวทนา ญาณและสังขาร ทั้งได้แสดงจำแนกชาติของจิตเหล่านี้ด้วย ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ชาติ คือ กุศลชาติ ได้แก่ มหากุศลจิต ๘ วิบากชาติ ได้แก่ มหาวิปากจิต ๘ และกิริยาชาติ ได้แก่ มหากิริยาจิต ๘ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้กามาวจรโสภณจิตนี้มีจำนวนถึง ๒๔ ดวง