| |
จำนวนของจิต   |  

จิตทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เมื่อนับโดยย่อ มีจำนวน ๘๙ ดวง เมื่อนับโดยพิสดาร มีจำนวน ๑๒๑ ดวง ดังที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์เถระเจ้าแสดงคาถาสังคหะที่ ๑๖ และที่ ๑๗ ไว้ดังต่อไปนี้

(๑๖) อิตฺถเมกูนนวุติปฺ - ปเภทํ ปน มานสํ
เอกวีสสตํ วาถ วิภชนฺติ วิจกฺขณา ฯ
(๑๗) สตฺตตึสวิธํ ปุญฺ ทฺวิปญฺาสวิธนฺตถา
ปากมิจฺจาหุ จิตฺตานิ เอกวีสสตมฺพุธาติ ฯ

แปลความว่า

๑๖. จิตทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว มีการนับเป็น ๒ ประเภท คือ นับจิตโดยย่อ มี ๘๙ ดวงประเภทหนึ่ง นับจิตโดยพิสดาร มี ๑๒๑ ดวง ประเภทหนึ่ง

๑๗. กุศลจิต ๓๗ และวิปากจิต ๕๒ ดวงนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นการกล่าวถึงจิตโดยพิสดาร

อธิบายความว่า

จิตโดยย่อ มีจำนวน ๘๙ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๑๘ กามาวจรโสภณจิต ๒๔ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ โลกุตตรจิต ๘

จิตโดยพิสดาร มีจำนวน ๑๒๑ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๑๘ กามาวจรโสภณจิต ๒๔ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ โลกุตตรจิต ๔๐

สรุปแล้ว จำนวนจิตโดยย่อและโดยพิสดารนั้น ต่างกันที่โลกุตตรจิตเท่านั้น คือ ถ้านับโลกุตตรจิตโดยย่อ โดยประเภทแห่งมรรคและผลแบบธรรมดาแล้ว ก็มี ๘ ดวง ถ้านับโลกุตตรจิตโดยพิสดาร โดยประเภทแห่งฌานที่ใช้เป็นบาทในการเจริญวิปัสสนาจนบรรลุถึงมรรคผลแล้ว มรรคจิตและผลจิตแต่ละอย่างมีจำนวน ๕ ดวง ฉะนั้น มรรคจิต ๔ x ๕ จึงเป็นจำนวน ๒๐ ดวง ผลจิต ๔ x ๕ จึงเป็นจำนวน ๒๐ ดวง จึงรวมเป็นโลกุตตรจิตโดยพิสดาร ๔๐ ดวง

ในชาติของจิต ๔ ชาตินั้น เมื่อนับจิตโดยพิสดารแล้ว ก็ต่างกันที่กุศลชาติและวิบากชาติเท่านั้น ได้แก่ กุศลชาติมีจำนวน ๓๗ ดวง คือ นับโลกุตตรกุศลหรือมรรคจิตโดยพิสดารเป็น ๒๐ ดวง วิบากชาติมีจำนวน ๕๒ ดวง คือ นับโลกุตตร วิบากหรือผลจิตโดยพิสดารเป็น ๒๐ ดวง ส่วนอกุศลชาติและกิริยาชาตินั้น ไม่มีความพิสดาร คงมีจำนวนเท่าเดิม ตามนัยที่กล่าวแล้วในการนับจำนวนจิตโดยย่อ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |