| |
ความวิจิตร ๖ ประการ   |  

สรรพสิ่งต่าง ๆ ในโลกนั้น ล้วนมีความวิจิตรพิสดารโดยฐานะต่าง ๆ เช่น ในฐานะเป็นผู้รับรู้อารมณ์ด้วยความวิจิตร ในฐานะเป็นตัวอารมณ์ให้รับรู้ได้อย่างวิจิตรพิสดารและในฐานะเป็นตัวจัดแจงปรุงแต่งให้เกิดความวิจิตรพิสดาร ดังนี้เป็นต้น เมื่อสรุปแล้วจึงได้ความวิจิตร ๖ ประการ คือ

๑. สัตว์ทั้งหลายวิจิตร หมายความว่า บรรดาสัตว์ทั้งหลาย ที่ปรากฏอยู่ในภพภูมิต่าง ๆ นั้น มีมากมายหลายชนิด จนนับประมาณไม่ได้ เมื่อสรุปแล้ว มี ๔ ประเภท คือ สัตว์ไม่มีเท้า ๑ สัตว์สองเท้า ๑ สัตว์สี่เท้า ๑ และสัตว์มีมากกว่าสี่เท้า ๑ แม้ในภพภูมิของมนุษย์นี้ ก็มีมากมายหลายชนิด จนนับประมาณไม่ได้ หรือแม้แต่มนุษย์เอง ก็มีมากมายหลายผิวพรรณ หลายชนชั้น หลายฐานะและในอัธยาศัยจิตใจนั้นก็ยิ่งมีความหลากหลายจนยากที่จะกำหนดกะเกณฑ์ได้ ฉะนั้นจึงชื่อว่า สัตว์ทั้งหลายวิจิตร

๒. กำเนิดวิจิตร หมายความว่า คนและสัตว์ทั้งหลาย ที่มีความวิจิตรแตกต่างกันมากมายนั้น ก็เพราะมีกำเนิดที่แตกต่างกันออกไป คือ กำเนิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา และพรหม โดยกำเนิด ๔ อย่าง คือ ชลาพุชะ เกิดในมดลูก อัณฑชะ เกิดในไข่ สังเสทชะ เกิดในเถ้าไคล และโอปปาติกะ เกิดผุดขึ้นเองโดยไม่ต้องอาศัยมารดา ฉะนั้น การที่สัตว์ทั้งหลาย มีความวิจิตรพิสดารแตกต่างกันนั้น ก็เพราะกำเนิดวิจิตรนั่นเอง

๓. กรรมวิจิตร หมายความว่า การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจของสัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นกุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมบ้าง มีความวิจิตรพิสดารแตกต่างกันออกไปมากมาย เมื่อมีการสั่งสมกรรมที่แตกต่างกันเช่นนี้ ก็ทำให้ปฏิสนธิในกำเนิดที่แตกต่างกันออกไปด้วย ทั้งนี้ก็เพราะกรรมวิจิตรนั่นเอง

๔. ตัณหาวิจิตร หมายความว่า ความยินดีพอใจในอารมณ์ต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งหลายนั้น มีความวิจิตรพิสดารออกไปตามอำนาจการเสพคุ้นหรือการสั่งสม บางพวกหนักไปในรูป บางพวกหนักไปในเสียง บางพวกหนักไปในกลิ่น บางพวกหนักไปในรส บางพวกหนักไปในโผฏฐัพพะ บางพวกหนักไปในธัมมารมณ์ต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุให้การกระทำกรรมแตกต่างกันออกไป ฉะนั้น เหตุที่กรรมคือการกระทำวิจิตร ก็เพราะตัณหาวิจิตรนั่นเอง

๕. สัญญาวิจิตร หมายความว่า ความจำได้หมายรู้ในสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายนั้น มีความวิจิตรพิสดารแตกต่างกันออกไปตามสมรรถภาพของแต่ละบุคคล ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สัตว์ทั้งหลาย มีความคิดอ่านและรับรู้ได้มากน้อยแตกต่างกันออกไป และมีความทะยานอยากดิ้นรนแตกต่างกันออกไป ฉะนั้น เหตุที่ตัณหาวิจิตร ก็เพราะสัญญาวิจิตรนั่นเอง

๖. จิตวิจิตร หมายความว่า บรรดาความวิจิตรทั้ง ๕ ประการที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็เนื่องมาจากจิตนั่นเอง แปรสภาพออกไปเป็นความวิจิตรพิสดารตามเหตุปัจจัยนั้นๆ กล่าวคือ เป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง วิปากจิตบ้าง กิริยาจิตบ้าง ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า การที่สัญญาวิจิตรนั้น ก็เพราะจิตที่รับรู้นั้น มีความวิจิตรพิสดารนั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |