| |
สัปปุริสทาน ๕ ประการ   |  

สัตบุรุษทั้งหลายเมื่อให้ทานย่อมให้ด้วยการใช้สติปัญญาพิจารณาให้รอบคอบให้รู้เหตุผลตามความเป็นจริงและมีความเหมาะสมแล้ว จึงให้ทานที่ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการ คือ

๑. ย่อมให้ทานด้วยศรัทธา

๒. ย่อมให้ทานโดยเคารพ

๓. ย่อมให้ทานตามกาลอันเหมาะสม

๔. เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ในบุคคลทั้งหลายแล้วจึงให้ทาน

๕. ย่อมให้ทานโดยไม่กระทบตนและบุคคลอื่น

สมดังพระพุทธภาษิตที่มาในสัปปุริสทานสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พระพุทธเจ้าตรัสสัปปุริสทานสูตร ว่าด้วยเรื่องทานของสัตบุรุษ ๕ ประการไว้ดังต่อไปนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการ เป็นไฉน คือ สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา ๑ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑ ย่อมให้ทานโดยกาลอันสมควร ๑ เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์แล้วให้ทาน ๑ ย่อมให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษครั้นให้ทานด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปสวยงามน่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก ในขณะที่ทานนั้นเผล็ดผล [บังเกิดผลขึ้น] ครั้นให้ทานโดยเคารพแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีบุตร ภรรยา ทาส คนใช้หรือคนงาน เป็นผู้เชื่อฟัง เงี่ยโสตลงสดับคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ ในขณะที่ทานนั้นเผล็ดผล ครั้นให้ทานโดยกาลอันสมควรแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ [ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้น] ในขณะที่ทานนั้นเผล็ดผล ครั้นเป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทานแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ ยิ่งขึ้นไป ในขณะที่ทานนั้นเผล็ดผล ครั้นให้ทานไม่กระทบตนและบุคคลอื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่มีภยันตรายมาแต่ที่ไหน ๆ คือ จากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาท ในขณะที่ทานนั้นเผล็ดผล ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทานมี ๕ ประการดังนี้แล


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |