| |
บทสรุปเรื่องรสรูป   |  

รสรูปหรือสัททารมณ์ อันได้แก่ รสต่าง ๆ มีเปรี้ยว หวาน ฝาด เค็ม เผ็ด ขม เป็นต้น ซึ่งมีสภาพที่สามารถกระทบกับชิวหาปสาทได้เป็นคุณลักษณะ มีการเป็นอารมณ์แก่ชิวหาวิญญาณจิต อันเป็นหน้าที่ที่สำเร็จมาจากคุณสมบัติเฉพาะตน มีความเป็นอารมณ์ให้แก่ชิวหาวิญญาณนั่นเองเป็นผลปรากฏ ที่บัณฑิตสามารถกำหนดพิจารณารู้ได้ด้วยปัญญา และเป็นรูปธรรมที่จะปรากฏเกิดขึ้นได้ต้องมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด คือ เป็นฐานรองรับอันสำคัญ จะเกิดขึ้นโดยลำพังตนเอง หรือเกิดขึ้นโดยปราศจากมหาภูตรูปเป็นเครื่องรองรับนั้น ย่อมไม่มี

รสรูปหรือรสารมณ์คือรสต่าง ๆ นั้น ย่อมเกิดมาจากสมุฏฐาน ๔ ประการ เพราะฉะนั้น จึงจำแนกเป็น ๔ ประเภทตามสมุฏฐานที่เป็นแดนให้เกิดขึ้น กล่าวคือ

๑. กัมมชรสรูป คือ รสรูปที่เกิดจากกรรม ได้แก่ รสที่ออกจากอวัยวะในตัวของมนุษย์ เทวดา มาร พรหม และสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่าที่มีรูปร่าง ซึ่งเกิดจากกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม มีรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด ขม ฝาด ตามประเภทของสัตว์ และเป็นที่ต้องการของมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลาย ตามประเภทของบุคคล

๒. จิตตชรสรูป คือ รสรูปที่เกิดจากจิต ได้แก่ รสที่ออกจากอวัยวะในตัวของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย คล้ายกับกัมมชรสรูป แต่เกิดจากปฏิกิริยาของจิต ซึ่งออกมาในสภาพที่เป็นอุตุชรูป เรียกว่า จิตตปัจจยอุตุชรูป อวัยวะของสัตว์บางอย่างมีรสอร่อยโดยอาศัยอำนาจจิตทั้งที่เป็นกุศลหรือที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น สัตว์บางชนิดต้องกระตุ้นให้จิตเป็นกุศลหรือให้จิตเป็นโสมนัสก่อนแล้วจึงฆ่าเอาเนื้อมากินเป็นอาหาร ทำให้มีรสชาติอร่อยเป็นพิเศษ สัตว์บางชนิดต้องกระตุ้นให้จิตเป็นอกุศลโดยเฉพาะโทสมูลจิต เช่น ทำให้ตกใจกลัวสุด ๆ จนช๊อกตายไปเอง หรือฆ่าให้ตายในขณะสัตว์นั้นกำลังกลัวสุด ๆ ทำให้อวัยวะของสัตว์นั้นมีรสชาติอร่อยเป็นพิเศษ ดังนี้เป็นต้น ล้วนแต่เป็นรสที่เกิดจากอำนาจจิตทั้งสิ้น

๓. อุตุชรสรูป คือ รสรูปที่เกิดจากอุณหภูมิหรือสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ รสที่ออกจากอวัยวะของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งหลุดออกจากร่างกายไปแล้ว หรือรสของสิ่งปฏิกูลที่หลั่งไหลออกจากร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย มีอุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อไคล น้ำลาย เป็นต้น และรสของสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายที่นอกจากรสที่ออกมาจากอวัยวะของสัตว์ดังกล่าวแล้ว ได้แก่ รสแห่งส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ รสดิน รสน้ำ รสไฟ รสลม รสอากาศ เป็นต้น

๔. อาหารชรสรูป คือ รสที่เกิดจากอาหาร ได้แก่ รสที่เกิดจากอาหารภายนอกร่างกายสัตว์ ที่เรียกว่า พหิทธโอชา เช่น รสข้าว รสอาหาร เป็นต้น และรสที่เกิดจากอาหารภายในร่างกายของสัตว์ ที่เรียกว่า อัชฌัตตโอชา ได้แก่ รสของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย รสของไฟธาตุที่ย่อยอาหารหรือรสของน้ำย่อย เป็นต้นนั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |