| |
เหตุให้เกิดโอตตัปปะ ๔ ประการ   |  

โอตตัปปเจตสิก ซึ่งมีสภาพเกรงกลัวต่อบาปและผลของบาปที่จะเกิดขึ้น โดยการปรารภโลกหรือปรารภถึงบุคคลอื่นเป็นอารมณ์แล้วงดเว้นจากการทำบาปเพราะกลัวต่อภัย ๔ ประการ คือ

๑. อัตตานุวาทะภะยัง กลัวต่อการติเตียนตนเอง หมายความว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยโอตตัปปะย่อมเกิดความกลัวต่อบาปว่า แม้บุคคลอื่นจะไม่ล่วงรู้ถึงการกระทำอันชั่วร้ายของเราก็ตาม แต่บุคคลที่เราไม่สามารถปิดบังได้ ก็คือ ตัวเราเอง เมื่อนึกถึงคราวใด เราย่อมเดือดร้อนใจทุกคราวไป เมื่อเป็นเช่นนี้ เราย่อมไม่มีความสุขใจไปตลอดชีวิต ดังนี้แล้วย่อมหยุดยั้งจากการทำบาปนั้นเสียได้

๒. ปะระวาทานุภะยัง กลัวต่อการติเตียนจากบุคคลอื่น หมายความว่า บุคคลบางคนปรารภถึงบุคคลอื่นเป็นอารมณ์แล้วเกิดความเกรงกลัวต่อการติเตียนจากบุคคลอื่น จึงไม่กล้าทำบาป ด้วยคิดว่า ถ้าเราทำบาปลงไปแล้ว บุคคลอื่นที่รู้เห็นการกระทำอันชั่วช้าของเรา ย่อมจะตำหนิติเตียนด่าประจานเรา หรือลงโทษทัณฑ์เรา ไม่คบหาสมาคมกับเรา หรือเนรเทศเราออกจากหมู่คณะ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราคงจะตกทุกข์ได้ยาก อยู่อย่างเดือดร้อนกายใจ และได้ชื่อว่า เป็นคนชั่ว มีราคีติดตัวไปตลอดชีวิต ดังนี้แล้ว ย่อมหยุดยั้งการกระทำความชั่วต่าง ๆ ไว้ได้

๓. ทัณฑะภะยัง กลัวต่อราชทัณฑ์ คือ กฎหมายบ้านเมือง หมายความว่า บุคคลบางคนปรารภถึงประเทศชาติเป็นสำคัญแล้วเกิดความเกรงกลัวต่อการถูกลงโทษจากกฎหมายบ้านเมือง จึงไม่กล้ากระทำทุจริตกรรมใด ๆ ด้วยคิดว่า ถ้าเรากระทำความผิดลงไปแล้ว เราก็จะถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองลงโทษตามกฎหมายอาญา อาจถูกปรับ ริบทรัพย์สิน หรือถูกจองจำให้หมดอิสรภาพ จนถึงขั้นโทษหนักถึงประหารชีวิตก็เป็นได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ อนาคตของเราก็จะดับลง ความดีงามของเราก็จะเสื่อมสูญ และถูกตราหน้าว่า เป็นคนชั่วช้าเลวทราม ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นตราบาปติดตัวตลอดไป ทั้งในขณะมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้วก็ไม่อาจลบล้างได้ ดังนี้แล้ว จึงหยุดยั้งความคิดที่จะกระทำบาปนั้นไว้ได้

๔. ทุคคะติภะยัง กลัวต่อภัยในทุคติ คือ อบายภูมิ ๔ หมายความว่า บุคคลบางคนเมื่อพิจารณาถึงโทษและความทุกข์ที่จะพึงได้รับในปรโลกแล้วเกิดความกลัว ไม่กล้ากระทำทุจริตกรรมใด ๆ ลงไป ด้วยคิดว่า ถ้าเรากระทำบาปลงไปแล้ว เมื่อเราตายไป เราต้องไปสู่ทุคติ วินิบาต นรก หรือเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งเป็นภพภูมิที่เต็มไปด้วยความทุกข์ความเดือดร้อนนานาประการ โอกาสที่เราจะหลุดพ้นจากอบาย กลับมาสู่สุคติเช่นนี้อีก เป็นไปได้ยาก ดังนี้แล้ว จึงหยุดยั้งความคิดที่จะกระทำทุจริตกรรมไว้ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |